MotoGP กฎ-กติกาที่ควรรู้ก่อนเริ่มดูการแข่งขัน

MotoGP คือรายการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก ที่มีมายาวนานเริ่มตั้งแต่ปี 1949 ที่ถือเป็นฤดูกาลแรก โดยชื่อว่ารายการ World Champion Motorcycles Grand Prix และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นรายการ MotoGP ในปี 2002 หากเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่ของการประลองความเร็ว MotoGP ก็นับเป็นรายการใหญ่ที่สุดเช่นเดียวกับรายการ F1 ของการแข่งรถยนต์ชิงแชมป์โลก โดยมีเหล่านักพนันทั่วโลกให้ความสนใจร่วมเดิมพันมากมาย

ในปี 2018 ที่ผ่านมาประเทศไทยของเรายังได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลกนี้อีกด้วย โดยเป็นสนามที่ 15 ของรายการ MotoGP จึงทำให้แฟนกีฬาที่รักความเร็วได้ให้ความสนใจต่อการแข่งขันระดับโลกนี้กว้างขวางมากขึ้น จึงขอนำเสนอกฎ กติกาพื้นฐานของการแข่งขัน เพื่อให้คนที่เพิ่งเริ่มสนใจ MotoGP ได้รับอรรถรสในการรับชมการแข่งขันมากขึ้นตามไปด้วย

ประเภทการแข่งขันและกติกาพื้นฐานของ MotoGP มีอะไรบ้างที่เราต้องรู้

การแข่งขัน MotoGP ในแต่ละฤดูกาลเดิมจะทำการแข่งขันทั้งหมด 18 สนามเพื่อทำการเก็บคะแนน โดยในฤดูกาลปี 2018-2019 ได้มีการเพิ่มขึ้นมาอีก 1 สนามนั่นก็คือ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ที่ประเทศไทยของเรานั่นเอง จึงรวมเป็นทั้งหมด 19 สนาม การเปิดฤดูกาลจะเริ่มต้นประมาณเดือนมีนาคม และปิดฤดูกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน

การแข่ง MotoGP แต่ละสนาม จะใช้เวลาแข่งทั้งหมด 3 วัน โดยจะแบ่งดังนี้

วันที่ 1 Practice Day ขี่ FP1 และ FP2 นั่นคือ Free Practice หรือการซ้อมโดยการขี่ FP1 และ FP2 ใช้เวลา 45 นาที ทำการจับเวลา

วันที่ 2 Qualifying Day ขี่ FP3, FP4 และ Q1, Q2 โดยวันที่ 2 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง

-เริ่มจากช่วงแรก การขี่ FP3 จะทำการจับเวลา 45 นาที ซึ่งการขี่ FP1-FP3 ตั้งแต่วันที่ 1-วันที่ 2 จะมีการเลือกเวลาที่ดีที่สุดของนักแข่งแต่ละคน ซึ่งนักแข่ง 10 อันดับแรกที่ทำเวลาดีที่สุดจะผ่านเข้าสู่รอบ Q2 หรือ Qualifying Q2 ส่วนนักแข่งที่เหลือตั้งแต่ลำดับที่ 11 เป็นต้นไปจะเข้าสู่รอบ Qualify Q1

-ช่วงที่ 2 การซ้อม หรือ Free Practice 4 จะใช้เวลา 30 นาที แต่ไม่จับเวลา ถือเป็นแค่การซ้อมและปรับเซ็ตรถก่อนรอบ Qualifying Q1 และ Q2 ซึ่งรอบ Qualifying Q1 ใช้เวลา 15 นาที สำหรับการจัดลำดับกริดสตาร์ทตั้งแต่ลำดับที่ 13 เป็นต้นไป

-ส่วน Qualifying Q2 ใช้เวลา 15 นาทีเช่นกัน ใช้สำหรับการจัดลำดับกริดสตาร์ทของนักแข่งตั้งแต่ลำดับที่ 1-12 (นำนักแข่ง 10 อันดับแรกที่สามารถทำเวลาดีที่สุดจากการซ้อม FP 3 รอบแรก และนักแข่ง 2 ลำดับแรกจากรอบ Q1 มาแข่งเพื่อจัดอันดับสตาร์ทลำดับที่ 1-12 นั่นเอง)

วันที่ 3 Race Day แบ่งเป็น 2 ช่วงคือการขี่ WUP และ RAC

-WUP คือ Warm up หรือการอุ่นเครื่องและเป็นการปรับเซ็ตรถครั้งสุดท้ายก่อนการแข่งขัน

-Race  คือช่วงที่เข้าสู่การแข่งขันจริง โดยนักแข่งจะขี่เพื่อวอร์มอัพก่อน 1 รอบโดยหากในรอบวอร์มอัพ รถของนักแข่งเกิดปัญหา เช่น ต้องเปลี่ยนรถ นักแข่งสามารถขับรถเข้าพิท (Pit ) ได้เลย แต่ตอนที่ออกสตาร์ทในตอนแข่งจริงจะต้องออกสตาร์ทจากพิทเลน (Pit Lane) เท่านั้น

 การเก็บคะแนนของแต่ละสนาม การให้คะแนนของลำดับที่ 1 – 5 คือ 25, 20, 16, 13 และ 11 คะแนน ตามลำดับ ตั้งแต่ลำดับที่ 6 ได้ 10 คะแนน และลดหลั่นไปลำดับละ 1 คะแนนจนถึงอันดับสุดท้ายคืออันดับที่ 15 คือได้ 1 คะแนน ส่วนนักแข่งที่ต่ำกว่าลำดับที่ 15 จะไม่ได้คะแนน

การลงโทษนักแข่ง หากทำผิดกติกา จะใช้ระบบสะสมคะแนนความประพฤติในสนามแข่ง เช่น การขับขี่ที่หวาดเสียว พฤติกรรมก้าวร้าวในสนาม เป็นต้น แบ่งเป็นการลงโทษ 3 ระดับได้แก่

-ระดับที่ 1 คะแนนความประพฤติถึง 4 คะแนน จะถูกลงโทษให้นักแข่งออกสตาร์ทแถวหลังสุด

-ระดับที่ 2 สะสมครบ 7 คะแนน จะได้ออกสตาร์ทจาก Pit Lane ซึ่งมีการจำกัดความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

-ระดับที่ 3 ครบ 10 คะแนนจะได้รับโทษด้วยการถูกสั่งห้ามแข่งขันในสนามต่อไปในทันที

ทั้งหมดนี้เป็นกติกาและสิ่งที่ควรรู้พื้นฐานในการดูรายการแข่งขัน MotoGP แบบคร่าว ๆ รู้แล้วรับรองว่าจะทำให้แฟน ๆ สายนักซิ่งที่พร้อมจะร่วมเชียร์นักแข่งระดับโลก ได้ลุ้นและเข้าถึงอารมณ์การแข่งขันได้ดีมากขึ้นอย่างแน่นอน

Pit Stop คืออะไรและมีหน้าที่สำคัญอย่างไรในสนามแข่ง F1

พิทสต็อป (Pit Stop) คือพื้นที่หรือตำแหน่งที่นักแข่งรถของแต่ละทีมใช้สำหรับซ่อมแซมรถ หรือปรับปรุงรถทั้งก่อนแข่ง ระหว่างแข่งและหลังแข่ง ยามที่เราได้ชมการแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน (Formula 1) ซึ่งเป็นสุดยอดของการประลองความเร็วของนักแข่งรถในระดับโลก เรามักจะเห็นว่าในสนามแข่งขันนั้นมีจุดที่นักแข่งจะต้องขับเข้าไปเปลี่ยนอุปกรณ์รถในช่วงหนึ่งของการแข่งขันด้วยความรวดเร็ว ซึ่งในวงการแข่งรถเรียกว่าจุดพิทสต็อป ( Pit Stop) หรือพิท (Pit) หรือจะเรียกอีกชื่อว่า Cockpit ก็ได้

พิทสต็อป (Pit Stop) ส่วนสำคัญของทีมแข่งรถระดับมืออาชีพที่ขาดไม่ได้      

ในสนามแข่งขัน Formula 1 การทำ Pit Stop นั้นมีความสำคัญมาก ๆ การแข่งขันที่นักขับต้องใช้ความเร็วเพื่อทำเวลาให้ดีที่สุดเพื่อที่จะเก็บคะแนนให้สูงที่สุดในแต่ละสนาม ดังนั้นเวลาทุกวินาทีย่อมมีค่ามาก ๆ เพราะเมื่อถึงเวลาที่นักแข่งขับเข้าพิท แปลว่ารถจะต้องหยุด แต่เวลาในการแข่งขันนั้นไม่ได้หยุดตามไปด้วย ซึ่งการแข่ง F1 นั้นมีกฎให้รถจะต้องเข้าพิทสต็อปของทีมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสนามแข่งขัน และใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาทีต่อการเข้าพิท 1 ครั้ง

เหตุผลที่รถแข่งจะต้องเข้าพิทนั่นก็คือ ในแต่ละสนามจะแข่งกันที่ระยะทาง 300 กิโลเมตร หรือนับเป็นรอบจะอยู่ที่ 50-70 รอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวรอบต่อรอบในแต่ละสนาม การเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนยางในระหว่างการแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก ๆ และบางครั้งอาจจะเกิดอุบัติเหตุในสนาม ทำให้ต้องขับเข้าพิทเพื่อมาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่หากเกิดความเสียหายกับตัวรถ

ตำแหน่งพิทสต็อปนั้น จะต้องมีการขับเข้าพิทเลน (Pit Lane) มาก่อนด้วยความเร็วที่กำหนดซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของโรงเก็บรถของทีมรถแข่งนั้น ๆ เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายอุปกรณ์เพื่อมาเซอร์วิสรถแข่งของทีม และความสำคัญของตำแหน่งพิทสต็อปนั้น ถูกกำหนดมาจากอันดับ Ranking ของทีมในฤดูกาลที่ผ่านมา หากทีมอยู่ในอันดับต้น ๆ ก็จะได้ตำแหน่งชองจุดพิทสต็อปใกล้กับปากทางเข้าของ Pit Lane ทำให้นักแข่งได้เปรียบจากการขับเข้าพิทง่ายมากขึ้นนั่นเอง

เมื่อทุกเสี้ยววินาทีในสนามนั้นมีความหมาย ทีมแข่ง F1 แต่ละทีมจึงต้องมีทีมงานที่ถูกเรียกว่า Pit Crew เป็นผู้ทำหน้าที่เปลี่ยนยางหรืออะไหล่ให้กับรถของนักแข่ง โดยต้องทำเวลาให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อที่จะช่วยให้นักแข่งของทีมตัวเองนั้นทำเวลาในสนามได้ดีที่สุด ซึ่งจุดนี้เป็นอีกหนึ่งสีสันของการแข่งขันเลยก็ว่าได้ เพราะทุกคนต้องทำงานกันรวดเร็วว่องไวปานจรวด

การทำงานของ Pit Crew ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15-20 คน โดยจะถูกแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เมื่อไหร่ที่รถเข้ามาที่จุดพิทสต็อป จะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดเปลี่ยนยางทั้งหมด 4 เส้นต้องมีคนยกแม่แรง ขันน็อตล้อ ใส่ล้อ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกซ้อมเพื่อความแม่นยำและรวดเร็วมาก ๆ และการทำงานจะถูกบันทึกเวลาเพื่อสร้างสถิติใหม่ไว้ทุกครั้ง ยิ่งใช้เวลาน้อยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น

จุดพิทจึงเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งที่คนรัก F1 ชอบและมักจะลุ้นไปกับการทำเวลาของพวกเขาทุกครั้ง ดังนั้นจุดพิทสต็อปและทีมงานที่ทำหน้าที่ทั้งหมดจึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากและเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยสร้างชัยชนะของนักแข่งได้ทุกเสี้ยววินาที

มารู้จักกับโกคาร์ท การแข่งขันรถพื้นฐานของกีฬามอเตอร์สปอร์ต 4 ล้อ

ในสนามแข่งขันประลองความเร็วรถ เชื่อว่าต้องมีคนเคยเห็นหรือรู้จักเจ้ารถคันเล็ก ๆ คล้ายกับรถของเด็กเล่นที่เราเรียกว่า “รถโกคาร์ท” (Go-Kart) กันแน่นอน ส่วนใหญ่าเราอาจจะเห็นตามทีวีในรายการที่มีการแข่งขันกีฬาประเภทมอเตอร์สปอร์ต ที่ดูแล้วน่าตื่นเต้นไม่แพ้กีฬาประเภทอื่น ๆ แถมนักแข่งรถที่มีชื่อเสียงหลายคน ต่างก็มีพื้นฐานในการขับเจ้ารถโกคาร์ทกันมาก่อนทั้งนั้น แล้วเจ้ารถโกคาร์ทนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจึงมีข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง

โกคาร์ท กีฬาแข่งรถที่เป็นบันไดสู่การเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ

โกคาร์ท (Go-Kart) คือรถแข่งขนาดเล็กและไม่มีหลังคา ไม่มีประตู ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ความคล่องตัวจึงสูงมาก ปกติความเร็วเฉลี่ยในการแข่งขันจะอยู่ราว ๆ 140-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี 1956 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกพัฒนาโดยชายที่ชื่อว่า อาร์ท อินเจลส์ ซึ่งเลียนแบบการแข่งขันรถ อินดี คาร์ ที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น ก่อนที่ความนิยมจะแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จนพัฒนาไปสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ

การแข่งรถโกคาร์ท ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

– สปริ้นท์ คือการแข่งขันระยะสั้น ระยะทางไม่เกิน 400-1600 เมตร

-แอนดูแรนซ์ คือการแข่งขันระยะยาว โดยจะกินเวลายาวนานถึง 24 ชั่วโมง

-สปีดเวย์ คือการแข่งขันในสนามที่มีความคดเคี้ยว

ส่วนประกอบของรถโกคาร์ท มีเครื่องยนต์แบบ 2 หรือ 4 จังหวะขนาดเล็ก รถคาร์ทปกติมีความยาว 1.8 เมตร กว้าง 1.3 เมตร และน้ำหนักประมาณ 68 กิโลกรัม ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งต่ำเพื่อสร้างจุดศูนย์ถ่วง ลดความเสี่ยงในการพลิกคว่ำขณะเข้าโค้ง และรถโกคาร์ทจะไม่มีเกียร์เหมือนรถปกติ มีแค่คันเร่งกับเบรกเท่านั้น

นักกีฬาที่จะเข้าแข่งขัน จะต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น และจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันแบบครบชุด ทั้งเสื้อแข่ง ถุงมือ หมวกกันน๊อคเป็นต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่

กระแสของกีฬาโกคาร์ทมีความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเราสังเกตจะเห็นว่าการแข่งรถโกคาร์ทมีความคล้ายคลึงกับการแข่งรถยนต์ฟอร์มูลาวันในหลาย ๆ ด้าน แม้ว่าขนาดของรถ ความแรงและความเร็วและแม้แต่ค่าใช้จ่ายอาจจะไม่เท่ากัน แต่โกคาร์ทก็เป็นพื้นฐานเริ่มต้นที่นำนักแข่งรถระดับโลกไปสู่วงการแข่งรถ F1 กันหลายคนเลยทีเดียว

การขับโกคาร์ทสามารถเริ่มต้นเล่นได้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยอาจจะต้องเรียนการขับพื้นฐานที่ถูกต้องจากผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์ เด็ก ๆ สามารถเล่นได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบเป็นต้นไปเพราะการขับโกคาร์ทเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้แค่ความเร็วเพียงอย่างเดียว แต่คนเล่นจะได้รับประโยชน์มากมาย เช่น การมีสมาธิ การตัดสินใจที่รวดเร็ว ความอดทน และสิ่งสำคัญคือการเป็นคนที่มีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งไม่แน่ว่าการได้เข้ามาสัมผัสกีฬาชนิดนี้อาจจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาพัฒนาตนเองไปสู่วงการมอเตอร์สปอร์ตระดับมืออาชีพในอนาคต

คำศัพท์และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในสนามแข่ง F1 ที่ควรรู้ ถ้าอยากดูให้สนุก

สำหรับสายรักความเร็วและแรงอย่างการแข่งขัน F1 ที่อาจจะเพิ่งเริ่มสนใจการแข่งขันเมื่อไม่นานมานี้ หรือบางทีแอบอยากไปชมการแข่งขันในสนามจริงสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะที่ประเทศไทยของเราก็มีสนามแข่งขันรถชิงแชมป์โลกอย่างรายการ F1 หรือ Formula 1 แล้วด้วยนะ แบบนี้จะให้พลาดได้ไง แต่ก่อนที่จะไปชมการแข่งขันที่เร้าใจ ผู้ชมอย่างเราควรรู้กฎ กติกา รวมถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในสนามแข่งเพื่ออรรถรสในการชมไปด้วยน่าจะดีที่สุดเลยล่ะ

ศัพท์ในสนามแข่งฟอร์มูลาวัน ที่ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

1.Formula 1 คือการแข่งขันรถยนต์สูตร 1 เรียกสั้น ๆ ว่า F1 แข่งด้วยความเร็วสูงถึง 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

2. Circuit คือสนามแข่งรถทางเรียบ โดยมีทั้งทางตรงและทางโค้ง สำหรับสนามแข่งที่รองรับการแข่ง F1 มีอยู่ทั่วโลกทั้งหมด 22 สนาม ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงการแข่งขันในแต่ละฤดูกาลว่าจะแข่งกี่สนาม

3. Track คือเส้นทางรถวิ่งในสนามแข่งขัน โดยจะมีทางเข้าและทางออกแทรค ซึ่งนักแข่งต้องจำให้ดี

4. Pit คือตำแหน่งหรือพื้นที่ของแต่ละทีม ใช้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซมรถ เช่น การเข้ามาเปลี่ยนยางของรถแข่งของทีมตัวเอง ทั้งก่อนแข่ง ระหว่างแข่งและหลังแข่ง

5. Pit Lane คือ เส้นทางที่รถแข่งใช้วิ่งเข้า – ออกระหว่างทางวิ่งในสนามและจุดซ่อมแซมรถ ในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งจะถูกจำกัดความเร็วในระหว่างที่รถวิ่งอยู่ใน Pit Lane และจะเป็นทาง One Way เสมอ

6. Lap คือ รอบในการแข่งขันในแต่ละสนาม

7.Qualifying คือรอบการแข่งขันจับเวลาเพื่อนำมาจัดอันดับจุดสตาร์ทในสนาม ก่อนที่นักแข่งจะสตาร์ทในวันแข่งจริง

8.Race Day คือวันแข่งจริง โดย F1 จะแข่งในแต่ละสนามใช้เวลาสนามละ 3 วัน เพราะฉะนั้น Race Day ก็คือวันที่ 3 และต้องแข่งระยะทางรวมไม่ต่ำกว่า 300 กิโลเมตร ปกติต้องใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงในการแข่งขัน

9. Pole Position คือ ตำแหน่งสตาร์ทแรก หรือตำแหน่งที่ 1 ของนักแข่งในวันแข่งขันจริง นั่นหมายถึงนักแข่งที่ได้สตาร์ทในตำแหน่ง Pole Position คือนักแข่งที่สามารถทำเวลาได้ดีที่สุดในการซ้อมและควอลิฟายในสนามใน 2 วันแรกนั่นเอง

10. Podium แท่นที่ใช้ยืนสำหรับผู้ชนะในสนามนั้น ๆ โดยผู้ชนะคือผู้ที่ทำเวลาดีที่สุดและมีคะแนนมากที่สุดจะได้ขึ้นไปรับถ้วยรางวัล

สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่คนดูอย่างเราก็เข้าใจได้

นอกจากศัพท์พื้นฐานที่เราควรรู้ไว้แล้ว สัญลักษณ์หรือสัญญาณในสนามแข่ง F1 ก็สำคัญไม่น้อย ยิ่งกับนักแข่งเองยิ่งต้องทราบก่อนการแข่งขัน และแม้เราเองที่เป็นผู้ชมก็ควรเข้าใจด้วยก็ดีไม่น้อย จะได้รู้ว่าขณะชมเกมแข่งขันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างนั่นเอง

สัญลักษณ์ของธงในสนาม จะมีธงทั้งหมด 10 สี หรือ 10 แบบเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้นักแข่งทราบ ซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้

ธงสีเหลือง ยกขึ้น ให้นักแข่งระมัดระวังและห้ามแซง

ธงสีเหลืองโบก แปลว่าอันตราย ให้เตรียมพร้อมในการหยุดรถและห้ามแซงเด็ดขาด และถ้าธงเหลืองโบกพร้อมป้าย SC แสดงว่าอันตรายมากที่สุด และมีรถ Safety Car นำขบวน ให้เตรียมหยุดและขับตาม Safety Car เท่านั้น

ธงสีเหลืองแถบแดง ถ้านักแข่งเห็นจะต้องระวังเพราะเป็นการเตือนว่ามีน้ำมันบนสนามแข่งให้หลบหลีก

ธงสีเขียวโบก แปลว่าพ้นข้อห้าม แข่งตามปกติ

ธงสีฟ้าโบก แสดงว่ามีรถแข่งที่มาเร็วกว่าตามมาใกล้มากและจะแซงได้ทุกเวลา

ธงสีขาว มีรถพยาบาลหรือรถช่วยเหลืออยู่ในสนามแข่ง

ธงสีดำครึ่งขาว ยกพร้อมหมายเลขนักแข่ง แปลว่ากำลังขับรถแบบไม่มีน้ำใจนักกีฬา จะถูกยกพร้อมหมายเลขเพื่อเป็นการเตือนก่อน

ธงสีดำ วงกลมสีส้ม ยกพร้อมหมายเลข แปลว่าตัวรถแข่งตามหมายเลขนั้นมีปัญหา กรรมการจึงเรียกเข้าพิทในรอบต่อไปนั่นเอง

ธงตราหมากรุก แสดงว่าจบการแข่งขันโดยสมบูรณ์ หรือ Chequer Flag

ธงสีแดง แปลว่าให้นักแข่งหยุดการแข่งขันโดยทันที

ธงสีดำ พร้อมหมายเลขรถ หมายถึงรถแข่งหมายเลขนั้น ๆ ออกจากการแข่งขัน

หวังว่าแฟน ๆ F1 จะรู้สึกสนุกมากขึ้นในการชมการแข่งประลองความเร็วในเกมครั้งหน้าไม่มากก็น้อย เอาเป็นว่าดูเพื่อความเพลิดเพลิน อันไหนที่จำไม่ได้แต่ถ้าดูบ่อย ๆ ก็จะเข้าใจได้ง่ายมากขึ้นแน่นอน

Monte-Carlo สนามแข่งขันรถทางเรียบที่ถูกโหวตว่าสวยที่สุดในโลก

ถ้าจะเอ่ยถึงการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ใช้ความเร็วมากที่สุด ก็คงเป็นรายการ Formula 1 ที่นักแข่งความเร็วทั่วโลกต่างใฝ่ฝันที่จะได้เข้าร่วมรายการนี้ และถ้าเอ่ยถึงสนามแข่ง Formula1 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า F1 มีสนามที่เรียกว่าสวยงามมากที่สุดในบรรดาสนามแข่งทั้งหมด ก็คงหนีไม่พ้นสนาม Monte-Carlo Street Circuit ประเทศโมนาโก (Monaco)

สนามแข่งรถ Monte-Carlo (มอนติคาร์โล) แห่งประเทศโมนาโกเป็นหนึ่งใน 18 สนามแข่งขันรถ F1 ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความงดงามและยิ่งใหญ่มากที่สุดในโลก ด้วยความสวยงามของเมืองมอนติคาร์โลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเพราะลักษณะทางกายภาพของเมืองที่อยู่ใกล้กับตีนเขาแอลป์ (Alp) และยังถูกล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มอนติคาร์โลจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สุดแสนโรแมนติกมากแห่งหนึ่งของโลก

สนามแข่งรถ Monte-Carlo เป็นถนนที่อยู่บริเวณท่าเรือที่มีชื่อเสียงของประเทศโมนาโก มีความยิ่งใหญ่ด้วยระยะทาง 78 รอบตลอดสนามแข่งขัน 3.340 กิโลเมตร ซึ่งต้องวิ่งไปตามถนนที่แคบและคดเคี้ยวของมอนติคาร์โลและลาคอนดามีน ส่วนทางตรงสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว จึงเป็นสนามแข่งรถที่มีทั้งความสวยงามและความน่าตื่นเต้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ สนามแห่งนี้ถูกใช้เป็นสนามแข่งรถ F1 หรือเรียกว่า Monaco Grand Prix ตั้งแต่ปี 1929 เวลาในการเซ็ตสนามแข่งขัน ใช้เวลาถึง 6 สัปดาห์ และใช้เวลารื้อถอนอีก 3 สัปดาห์หลังการแข่งขันเสร็จสิ้น

ประวัติความเป็นมาที่น่าทึ่งและความเย้ายวนใจของสนาม MonteCarlo

ก่อนจะมาเป็นสนามแข่งกรังด์ปรีซ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและมีความสมบูรณ์แบบ ผู้ริเริ่มการแข่งขันครั้งแรกของสนามแห่งนี้คือประธาน Automobile Club de Monaco คือคุณ Antony Noghes ในปี 1929 และนักแข่งที่สามารถขับเข้าเส้นชัยได้เป็นคนแรกคือ William Grover-Williams ด้วยรถแข่ง Bugatti Type35

การปรับปรุงสนามครั้งที่ 1 เมื่อปี 1973-1975 จากสนามเดิมที่มีความยาว 3.145 กิโลเมตร จำนวน 14 โค้ง ได้ปรับความยาวสนามเพิ่มขึ้นเป็น 3.278 กิโลเมตร จำนวนโค้ง 14 โค้ง (เท่าเดิม) จากนั้นมีการปรับปรุงสนามอีกหลายครั้ง โดยการปรับปรุงครั้งที่ 4 ในปี 1997-2002 มีความยาวอยู่ที่ 3.328 กิโลเมตร จำนวน 25 โค้ง

จนกระทั่งในปี 2003 มีการปรับปรุงสนามแข่ง Monte-Carlo อีกครั้งให้มีความยาวของสนามอยู่ที่ 3.340 กิโลเมตร จำนวนโค้ง 19 โค้ง โดยนักแข่งที่สามารถทำเวลาดีที่สุดในสนามแห่งนี้ คือ มิชชาเอล ชูมัคเคอร์ (Michael Schumacher) นักแข่งรถสูตรหนึ่งชื่อดัง ชาวเยอรมัน ในรถ Ferrari 2004 ด้วยเวลา 1.14.439 นาทีเท่านั้น

ด้วยความสวยงามและทัศนียภาพที่เย้ายวนใจของสนามแข่งมอนติคาร์โล กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปสัมผัสการแข่งขันกรังด์ปรีซ์อย่างใกล้ชิด ช่วงเทศกาลผู้คนต่างจองตั๋วเพื่อให้ได้ที่นั่งที่ดีที่สุดเพื่อชมการประลองความเร็วในสนามแห่งนี้ และหากเป็นนอกฤดูกาลแข่งขันผู้คนที่เป็นแฟน F1 ต่างก็ชื่นชอบที่จะลองขับรถไปตามถนนที่ใช้เป็นสนามแข่งซึ่งสามารถมองเห็นสถานที่ที่สำคัญและสวยงามของเมืองได้ชัดเจน เช่น พระราชวังพรินซ์, คาสิโนมอนติคาร์โลและท่าเรือโมนาโก เป็นต้น

เสียงท่อที่ดังมีผลต่อความแรงแค่ไหน

เวลาขับรถไปบนถนน บางครั้งจะได้ยินเสียงท่อรถที่ดังจนน่าตกใจ เราคงต้องมองกระจกหลังไปดูพลางคิดว่าจะได้เห็นซุปเปอร์คาร์เท่ ๆ แพง ๆ ผ่านมาให้เห็นเป็นบุญตาแน่นอน แต่พอเอาเข้าจิงกลับกลายเป็นรถอีโคคาร์ญี่ปุ่นทั่วไป แล้วทำไมท่อดังขนาดนั้น หรือมีการตัดแต่งเครื่องยนต์โมอัพจนแรงทะลุนรก เดี๋ยวมันต้องโฉบผ่านเราไปในพริบตาแน่นอน ซึ่งบางคันก็เป็นแบบนั้น แต่บางคันมันก็ไม่ได้เร็วอะไรนี่ แล้วจะทำให้ดังไปขนาดนั้นทำไม แล้วเสียงท่อมันดัง ๆ สัมพันธ์กับความแรงหรือเปล่า

ระบบเครื่องยนต์ที่มีผลต่อความแรง

เครื่องยนต์สันดาปอย่างที่เราคุ้นเคยกันจะแรงบ้างเบาบ้างนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่าง ตามจุดมุ่งหมายที่มันถูกสร้างมา ตามหลักการแล้ว เมื่อไดชาร์จปั่นแกนลูกสูบให้เริ่มหมุน อากาศในกระบอกสูบจะถูกดูดถูกอัด ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลงที่ถูกฉีดเข้ามาและจุดระเบิดอย่างแรง ถีบลูกสูบแต่ละลูกให้กลับไปหมุนแกนเหวี่ยงจนเกิดการทำงานต่อเนื่องสัมพันธ์กันไป เมื่อเครื่องยนต์หมุนไดชาร์จก็หยุด และเป็นหน้าที่ของระบบฉีดเชื้อเพลิงและระบบอัดอากาศที่จัดมามากน้อยตามคันเร่งที่ถูกเท้าเราเหยียบ ดังนั้นปัจจัยความแรงของเรื่องยนต์จึงมีอยู่หลายปัจจัย เช่น ปริมาตรกระบอกสูบ ที่ยิ่งมากอากาศและเชื้อเพลิงที่ถูกดูดเข้ามาก็มากเมื่อมันถูกจุดระเบิด การระเบิดจึงรุนแรง เมื่อเท่านี้ยังไม่พอ จึงมีการพัฒนาระบบอัดอากาศเพื่อสามารถเพิ่มปริมาณอากาศเข้ามาในกระบอกลูกให้มากกว่าที่ปริมาตรกระบอกจำดูดเข้ามาได้ นั่นคือเทอร์โบ เทอร์โบทำหน้าที่ดูดอากาศจากภายนอกอัดเข้าไปในกระบอกสูบให้ทันมากกว่าปกติ เมื่อเกิดการจุดระเบิดจึงมีความรุนแรงมากขึ้น เครื่องยนต์ก็หมุนเร็วขึ้น หรือไม่งั้นบางเครื่องยนต์ก็ยังเพิ่มวาล์วที่สามารถแปรผันจำนวนอากาศเข้ามาให้มากขึ้น เมื่อเครื่องยนต์หมุนถึงรอบของมัน เช่นระบบ Vtech และ vvti ของฮอนด้าและโตโยต้า ซึ่งตอนนี้ทุกยี่ห้อมีเทคโนโลยีนี้หมดเพียงแต่เรียกชื่อต่างกันออกไป

เมื่อพูดถึงระบบอัดอากาศแล้ว อีกปัจจัยก็คือระบบไอเสีย สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มความแรงของเครื่องยนต์ได้ก็คือระบบปล่อยอากาศเสียจากการเผาไหม้ ซึ่งก็คือสิ่งที่เราสงสัยว่ามันมีผลไหม ระบบท่อไอเสีย เริ่มตั้งแต่คอท่อที่ต่ออยู่กับเครื่องยนต์ ยิ่งปล่อยไอเสียจากระบบเผาไหม้ได้เร็วเครื่องยนต์ก็ยิ่งหมุนได้แรง แต่บางครั้งก็ไม่เสมอไป การปล่อยเร็วเกินไปเครื่องยนต์ก็อาจสูญเสียแรงดันในระบบ ทำให้เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้ไอเสียเดินทางออกอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เร็วเกินไป ซึ่งเมื่อไอเสียเดินทางออกถึงปลายต่อ รถบางคันจึงมีเสียงดัง และที่ปลายท่อนี้เองที่จะมีอุปกรณ์สำหรับดูดซับเสียงให้หายไป รถบางคันจึงไม่มีเสียงและรถบางคันจึงแผดเสียงได้ดังหูแทบแตก

สนองอารมณ์ล้วน ๆ                

จะเห็นได้ว่า เครื่องจะแรงแค่ไหน เสียงดังหรือไม่ดังมันถูกกำหนดที่ปลายท่อ ไม่ใช่กำลังของเครื่องแต่อย่างใด ดังนั้นความดังของท่อจึงถูกกำหนดด้วยรสนิยมของเจ้าของรถเป็นสำคัญ ไม่ได้เกี่ยวกับความเร็วแรงของรถแต่อย่างใด

รถจะแรงได้ต้องเกียร์แมนนวลเท่านั้นเหรอ

สังเกตเวลาดูหนังที่มีรถแรง จะฟาส 9 หรือป๊าด 8 สังเกตุว่าเวลาดวลความเร็วหรือเร่งแซงเราจะเห็นพี่พี่เค้าสับคันเกียร์อย่างแรง กระทืบคลัทช์อย่างกับมันเคยฆ่าพ่อเรา แล้วรถก็จะพุ่งทะยานไปอย่างกับจรวด ดูไปก็พลางสงสัยไปว่ารถล้ำขนาดนั้นไม่มี่เกียร์ออโต้เหรอ หรือตังน้อยพี่ดอมเลยไม่ซื้อตัวท็อป ซื้อตัวล่างสุดแล้วกระจกหมุนมือด้วยรึเปล่า หรือว่าเกียร์ออโต้มันไม่แรง แล้วในสนามแข่งทำไมเวลาดูถ่ายทอดสดไม่เคยเห็นชูมัคเกอร์สับเกียร์เลย ว่าแล้วมาลองตามอ่านข้อมูลที่เรานำมาเสนอให้คลายความสงสัยกันดีกว่า

แยกประเภทเกียร์กันก่อน

“ระบบเกียร์” ไม่ว่ารถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์คือระบบส่งกำลังจากเครื่องยนต์ลงไปที่ล้อผ่านระบบเฟืองขนาดต่าง ๆ เพื่อให้แรงบิดสัมพันธ์กับความเร็วและแรงต้านของรถ ตั้งแต่แรกเริ่มระบบเกียร์ก็เป็นแบบที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าแมนนวล คือเหยียบคลัทช์เพื่อให้เฟืองยกและปล่อยคลัทช์ให้เฟืองเข้าขบในเกียร์ที่เราต้องการ ผู้ขับต้องมีการฝึกฝนเพื่อเข้าใจในการเปลี่ยนเกียร์แต่ละครั้ง ส่วนเกียร์ออโต้คือการสั่งการเปลี่ยนเกียร์ด้วยระบบสมองกล กล่าวคือผู้ขับไม่ต้องทำอะไรใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งส่วนเท้าซ้ายจะเอามาก่ายหน้าผากยามต้องหาเงินผ่อนรถก็ได้ไม่ว่ากัน

มันจึงมีความแตกต่างกันระหว่างการทำงานของสมองคนและสมองกล ขาซิ่งทั้งหลายจึงพารู้สึกว่าสมองกลหรือจะมาสู้สมองคน จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ของเกียร์ออโต้มันไม่ทันใจโจ๋ มันไม่ยอมลากรอบสูง ๆ เพื่อดันพลังเครื่องยนต์ให้ปั่นรอบสูงแล้วปล่อยคลัทช์ระเบิดพลังลงไปที่ล้อแบบสะใจโจ๋ รถมันไม่กระชากไม่เร้าอารมณ์

ก็ว่ากันไปตามรสนิยมของแต่ละคน แต่ใช่ว่ารถเกียร์ออโต้จะไม่แรง เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาเพื่อสนองอารมณ์มนุษย์กันทั้งนั้น ระบบเกียร์ออโต้ก็เช่นกัน มันถูกปรับแต่งให้สามรถลากรอบหรือกระชากรอบแรง ๆ ได้ยามกดคันเร่งได้ไม่แพ้เท้าคน หรือในรถแข่งระดับเอฟวันที่เราไม่เห็นว่ามีการสับเกียร์ มันก็ไม่ใช่เกียร์ออโต้ซะทีเดียว มันยังมีสิ่งที่เรียกว่า เซมิ ออโต้ หลักการของมันก็คือตัดการเสียเวลาในการเหยียบคลัทช์ออกไป โดยใช้ระบบอัตโนมัติในการยกเฟืองเปลี่ยนเกียร์นั่นเอง โดยทันทีที่นักขับสะกิดคันโยกที่อยู่หลังพวงมาลัยโดยใช้แค่นิ้วเดียวเพื่อเปลี่ยนเกียร์ ระบบคลัทช์ก็ทำงานอัตโนมัติเร็วกว่าเท้าคนเหยียบคลัทช์ได้ในระดับเสี้ยววินาที ดังนั้นระบบเกียร์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ต่างกันมากทำงานคล้ายกันนั่นแหล่ะ เพียงแต่มันตอบสนองไปตามรูปแบบการใช้งาน ถ้ารถซื้อแกงจะลากรอบแรงไปทำไม หรือก็ใช่ว่าเกียร์ออโต้จะแซงเกียร์แมนนวลไม่ได้ ทุกอย่างมันก็อยู่ที่คนใช้ทั้งนั้นว่าต้องการอะไร

แล้วทำไมพี่ดอมต้องสับเกียร์ตลอด                

ก็อย่างว่า ในภาพยนตร์ความมันในอารมณ์เป็นส่วนสำคัญ ถ้าในระหว่างดวลความเร็วพี่ดอมใช้แค่เท่าขวาเหยียบคันเร่งแล้วเท่าซ้ายแคะขี้มูกมันก็คงไม่เท่ มันต้องมีการสับ การเหยียบ การดึงเบรกเพื่อให้รู้ว่าพี่ดอมขับรถแรงอยู่นะ ยังไงก็หนังทำให้ดูก็ดูไปเถอะ แค่รู้ไว้ว่าจะเกียร์อะไรก็แรงได้เหมือนกันนั่นแหล่ะ

รถซิ่งบนถนน กับรถซิ่งในสนามแข่ง ดวลกันใครชนะ

หลายครั้งก็เกิดคำถามเวลาอยู่บนถนนเวลาเห็นรถหลายคันที่แต่งซิ่ง เสียงท่อดัง เวลาไฟเขียวก็ออกตัวซะแรงจนนึกว่าพี่คิดว่าแข่งควอเตอร์ไมล์รึเปล่า หรือบางทีมองกระจกหลังเห็นพวกมากันเป็นแก๊งปาดซ้ายปาดขวาจี้ตูดกันมาติด พาเราเครียดว่าจะหลบไปทางไหนดี เกิดมันมุดมาไม่พ้นซัดท้ายเราขึ้นมาก็อดกลับไปเห็นหน้าลูกหน้าเมียกันพอดี ครั้งจะเปิดกระจกออกไปสรรเสริญวีรกรรมพวกพี่ ๆ เค้าก็กลัวจะไม่เข้าใจว่าเราชื่นชม พลางโกรธเกลียดมาทุบกระจกทักทายเราต้องบาทาอีก จึงได้แต่นั่งสงสัยอยู่คนเดียวว่าถ้าพวกพี่แรงนัก ทำไมไม่ไปสนามแข่งล่ะ ได้แชมป์โลกมารวยไม่รู้เรื่องเลยนะ

ถนนกับสนามแข่ง ทักษะที่ต่างกัน

ก็ต้องเข้าใจล่ะว่าอย่างหนึ่งที่นักซิ่งบนถนนไม่ยอมไปซิ่งในสนามก็เพราะหมดตังไปกับการแต่งรถ ใครจะไปมีตังลงแข่งในสนามที่ต้องมีกฎระเบียบ ค่าใช้จ่ายเรื่องความปลอดภัย ชุด หมวกกันน็อคที่ได้มาตรฐาน ทีมช่างที่เก่งกาจ และอะไหล่ที่พร้อมตลอดเวลา แถมรถทีแข่งในสนามต้องแต่งให้เบาที่สุด แอร์ก็ไม่มี เครื่องเสียงก็เลิกคิดได้เลย ไหนจะต้องมีที่นั่งเดียวแล้วจะมีสาวมานั่งข้างได้ยังไง แค่นี้ก็ไม่มีใครอยากไปลงสนามแล้ว

เอาล่ะ ถ้าลองตัดตัวแปรพวกนั้นออก มาดูสิว่าฝีมือเพียว ๆ ขาซิ่งบนถนนจะเอาตัวรอดบนสนามแข่งได้ไหม เพราะบนถนนกดคันเร่งอย่างเดียวปาดซ้ายปาดขวาได้เต็มที่ไม่มีใครอยากขวางพี่หรอก เพราะเพื่อนร่วมทางต่างอยากกลับบ้านไปเจอหน้าลูกเมียทั้งนั้น พี่อยากไปก็ไปไอ้เราก็ต้องนั่งตัวเกร็งจับพวงมาลัยให้แน่นกลั้นหายใจรอพวกพี่ไปให้พ้น ๆ ก่อนดีที่สุด แต่ในสนามไม่เหมือนกัน เสือ สิง กระทิง แรดที่รอพี่อยู่มีเป้าหมายเดียวกันคือเข้าเส้นชัยได้ก่อน ดังนั้นแรงอย่างเดียวไม่พอ เพราะพี่จะต้องโดนทั้งการบังไลน์ เบียดเลนนอกเลนในไม่ให้แซงอยู่ตลอดเวลา มุดไม่ดีเจอตัดหน้าพี่ตกใจก็ไถลกลิ้งออกนอกสนามได้เหมือนกัน ทักษะแมว ๆ อย่างพี่ก็คงได้แต่ตามก้นคนอื่นแน่นอน และในสนามไม่ใช่แค่จากแยกนี้ไปถึงแยกหน้า บางสนามแข่งเป็นสิบรอบต้องตั้งสมาธิเป็นชั่วโมงไม่วอกแวก ต้องฝึกฝนกันมาเป็นปีกว่าจะเอาตัวรอดได้ บางสนามอย่างเลอมังส์ 24 ขับ 24 ชั่วโมง แค่กระดกเครื่องดื่มชูกำลังเอาไม่อยู่แน่นอน แค่นี้ก็พอจะอนุมานได้ว่าขาซิ่งในสนามถ้าไม่ได้มีการฝึกฝนอย่างมุ่งมั่นก็คงเอาตัวไม่รอดในสนาม ดังนั้นเราจึงเห็นนักแข่งนอกสนามลงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา ๆ บนถนนอยู่ร่ำไป

ซิ่งไม่ว่าอย่าพาคนอื่นไปตาย                

ดังนั้นการซิ่งบนถนนมันก็ขึ้นอยู่จิตสำนึกของแต่ละคน อยากจะแรงโชว์สาวก็ไม่ว่า แต่ก็ควรจะเอาแต่พอดี แต่งรถให้สวย มีเครื่องแรงเสียงดัง ๆ ก็เท่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำตัวเสี่ยงด้วยการแข่งกันเอาเป็นเอาตายให้เพื่อนร่วมทางต้องเสี่ยงตายไปด้วย

4 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับโกคาร์ท

เมื่อเอ่ยถึงโกคาร์ท เชื่อได้เลยว่าคนไทยหลาย ๆ คนมักจะจินตนาการไปถึงรถสำหรับให้เด็กขับเล่นในสนามจำลอง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว รถโกคาร์ทไม่ได้มีความหมายแค่การเป็นรถแข่งของเด็กเท่านั้น รถโกคาร์ทคือแหล่งฝึกแหล่งเรียนรู้สำหรับคนที่กำลังอยากเป็นหนึ่งในนักแข่งรถระดับมืออาชีพเลยก็ว่าได้ วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักรถโกคาร์ทให้ดีมากกว่าเดิม เชื่อแน่ว่าอ่านจบแล้ว คุณจะต้องหลงเสน่ห์รถโกคาร์ทแน่นอน

1.การแข่งขันโกคาร์ท มีในครั้งแรกที่อเมริกา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเจ้ารถรูปร่างคล้ายฟอร์มูล่าวันนี้จะมีจุดกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการแข่งขันจัดที่แคลิฟอร์เนีย ด้วยจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในวันนั้นเองที่ทำให้รถโกคาร์ทได้รับความนิยมมาจนถึงวันนี้ ซึ่งที่น่าทึ่งมากไปกว่านั้นก็คือรถโกคาร์ทได้เกิดมาจากเครื่องยนต์ของเครื่องตัดหญ้านั่นเอง

2.โกคาร์ทคือจุดกำเนิดของนักซิ่งระดับโลก

หากดูให้ดี จะรู้ว่าเจ้าการแข่งรถโกคาร์ทนั้นมีความเหมือนกับการแข่งฟอร์มูล่าวันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว นักซิ่งระดับโลกในตำนานที่เรารู้จักกันนั้นก็เริ่มต้นมาจากการแข่งรถคาร์ทก่อนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมิคาเอล ชูมัคเกอร์ นักซิ่งในตำนานเองก็เริ่มต้นเส้นทางสายนักซิ่งของตัวเองจากการลงแข่งขันโกคาร์ทด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมี ลูอิส แฮมิลตันและนิโก รอสเบิร์กที่ล้วนแล้วแต่ผ่านสนามซิ่งรถโกคาร์ทกันด้วยกันแทบทั้งสิ้น  สาเหตุที่นักแข่งระดับโลกส่วนใหญ่นั้นเริ่มจากรถโกคาร์ทก็เพราะว่ารถคาร์ทราคาไม่แพงเหมือนรถฟอร์มูล่าวันนั่นเอง อีกทั้งสนามสำหรับซ้อมรถโกคาร์ทก็มีให้เลือกมากมาย

3.Superkart คือประเภทของรถคาร์ทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

หากใครสงสัยว่าประเภทรถโกคาร์ทใดกันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็ต้องบอกเลยว่าเป็น Superkarts นั่นเอง โดยจุดเด่นของ Superkarts ก็คือสามารถเร่งความเร็วได้มากถึง 260 กิโลเมตร : ชั่วโมง ความเร็วในระดับนี้ จัดได้ว่าเป็นความเร็วที่ท้าทายหัวใจเป็นอย่างยิ่ง

4.ประโยชน์ของการขับรถโกคาร์ท ก็คือการสร้างสมาธิ

หลาย ๆ คนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าประโยชน์ของการขับรถโกคาร์ท เป็นการสร้างสมาธิอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสนุกสนานได้ ทำให้ฮอร์โมนความสุขหลั่งออกมา ที่สำคัญ ใครที่เป็นคนสมาธิสั้นการขับรถโกคาร์ทจะช่วยฝึกประสาทสัมผัสของคุณได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

และนี่ก็คือเรื่องของรถโกคาร์ทที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ต้องบอกเลยว่ากีฬาชนิดนี้ เป็นกีฬาที่ทั้งตื่นเต้น เร้าใจ ท้าทายความเร็วแบบสุดชีวิต เรียกได้ว่าแม้จะเป็นคนดูหรือคนเล่นก็สนุกได้ทั้งนั้น การเลือกกีฬาที่สนุก เหมาะสมกับตัวเอง และสร้างสรรค์ จะทำให้คุณได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กว่าเดิม เห็นแบบนี้แล้วต้องลองรถโกคาร์ทดูสักครั้ง

ข้อดีของการแข่งรถในสนามแข่งขัน

การแข่งรถซิ่ง ใครต่อใครก็คงมองว่ามันเป็นเรื่องที่สุดแสนจะอันตราย ทั้งนี้ก็เพราะว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแข่งรถของคนไทยยังน้อยมาก อีกทั้งการแข่งรถก็ไม่เป็นที่นิยมในไทยมากนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง คนที่จะเข้าถึงการแข่งรถในสนามแข่งได้ ส่วนมากก็จะต้องเป็นคนรวยเท่านั้น แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจในกีฬาแข่งรถ วันนี้เราจะพามาดูข้อดีในสนามแข่ง ว่ามีอะไรกันบ้าง

1.ความปลอดภัยสูง

สิ่งแรกที่จัดได้ว่าเป็นข้อดีของการแข่งขันรถในสนามแข่งก็คือ ความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากสนามแข่งรถนั้นสร้างขึ้นเพื่อให้รถซิ่งต่าง ๆ มาแข่งกันอยู่แล้ว โครงสร้างถนน หรือแม้แต่องศาของโค้งก็ย่อมมีมาตรฐาน เหมาะสมกับการขับรถด้วยความเร็วสูงมากกว่าถนนธรรมดา

2.มือใหม่สามารถขับได้แบบสบาย ๆ

อย่างที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าสนามแข่งขันรถนั้นจัดทำถนนเพื่อการแข่งขัน ดังนั้นมือใหม่จึงสามารถขับได้แบบสบายใจไร้กังวล นอกจากไม่ต้องคอยระวังเรื่องมาตรฐานของถนนแล้ว ยังไม่ต้องระวังรถอื่น ๆ แบบการขับขี่บนถนนทั่ว ๆ ไปอีกด้วย คุณสามารถขับขี่ได้ และหัดขับรถแข่งได้เท่าที่ใจต้องการอย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

3.มีสมาธิจดจ่อกับการขับขี่มากกว่าเดิม

หากไปขับบนถนนทั่วไป แน่นอนว่านักขับจะต้องใช้ความระแวดระวังกับรถคันอื่น ๆ ที่ขับตามปกติ นอกจากนี้ยังไม่ได้ฝึกทักษะเกี่ยวกับการขับรถแบบที่ตั้งใจอีกด้วย แตกต่างจากการขับในสนามที่หากได้ขับแล้วคุณจะเพลิดเพลินไปกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง และได้พัฒนาฝีมือให้มากขึ้นกว่าเดิม

4.ได้รู้จักนักซิ่งคนอื่น ๆ

สนามแข่งรถเหมือนเป็นแหล่งรวบรวมเอานักซิ่งไว้ด้วยกัน หากคุณได้ลองไปที่สนามสักครั้ง คุณจะได้รู้จักเพื่อนนักซิ่งมากมาย รวมถึงรู้จักนักซิ่งที่มีประสบการณ์ในการขับขี่ สามารถแนะนำเทคนิคการขับขี่ที่ดี ๆ ให้กับคุณได้ คุณจะมีเพื่อนเป็นก๊วนนักซิ่ง ที่ทำให้คุณไม่เบื่อหน่ายเวลามาซ้อมขับรถอีกต่อไป แตกต่างจากการหัดซิ่งคนเดียว ที่บางครั้งอาจจะมีความเบื่อหน่ายหรือท้อแท้บ้าง แต่หากว่ามีเพื่อน เพื่อนจะคอยฉุดดึงให้คุณมีกำลังใจซ้อมมากกว่าเดิม

5.ไม่ทำให้คนทั่วไปมองนักซิ่งในแง่ร้าย

ต้องบอกเลยว่าคนไทยส่วนใหญ่บางครั้งมักมองนักซิ่งในแง่ร้าย บางทีพาลมองว่าเป็นสายแว้น นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนักซิ่งบางส่วนนิยมซิ่งในถนนสาธารณะรบกวนการใช้รถใช้ถนนของคนทั่วไป การขับในสนามจะทำให้มุมมองของคนอื่น ๆ มองนักซิ่งในแง่ดีกว่าเดิม

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากลองขับรถซิ่ง และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ไหนดี แนะนำว่าให้ลองไปที่สนามแข่งรถก่อนจะดีที่สุด การไปสัมผัสบรรยากาศการแข่งรถจะทำให้คุณตัดสินใจได้ว่าแท้จริงแล้วคุณชอบกีฬารถแข่งมากแค่ไหน ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นนักซิ่งมืออาชีพในอนาคตก็เป็นได้