ทวินริง โมเตกิ (Twin Ring Motegi) สนามของแชมป์แห่งความเร็ว

การจัดการแข่งขันรถยนต์ได้ถูกจัดแข่งขึ้นมากมายในหลายประเทศทั่วโลก และมีการสร้างสรรค์สนามแข่งรถให้สวยงามเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งให้ผู้ที่ชื่นชอบหลงใหลในความเร็วได้สัมผัส และเป็นมนต์ขลังที่คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาหลงใหลในเสน่ห์ของการแข่งรถเพิ่มมากขึ้น  ซึ่ง ทวินริง โมเตกิ เป็นอีกสนามหนึ่งที่มีความสวยงาม และเรื่องราวที่ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบในความเร็วได้หลงไปทั้งในสนามและนอกสนามไปพร้อมกัน

จังหวัดโทจิงิเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นบนภูมิภาคคันโตแห่งหมู่เกาะฮนซู ซึ่งมีชื่อเสียงในทางด้านอาหารและวัฒนธรรมหลายแห่งที่ติดอันดับโลก พร้อมทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของพระตำหนักประทับประจำราชวงศ์ในญี่ปุ่นอีกด้วย และถ้าหากกล่าวถึงผู้ที่หลงใหลในความเร็วแล้ว จังหวัดโทจิงิยังเป็นสถานที่ของการเริ่มต้นการแข่งขันรถยนต์แบบ Super GT หรือเรียกได้ว่าเป็นบ้านเกิดของการแข่งขันรถยนต์คลาส GT ที่กลายมาเป็นการแข่งขันที่นิยมระดับนานาชาติในเวลาต่อมา

ทวินริงโก โมเตกิ เป็นสนามแข่งรถที่ตั้งอยู่ในจังหวัดโทชิงิบนเทือกเขาฮักโกะ เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงโตเกียวประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสนามที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันรถยนต์คลาส GT โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ 4000 ไร่ ลึกลงไปในแอ่งใหญ่ล้อมรอบด้วยภูเขาใช้วิธีการสร้างสนามด้วยแนวคิดที่ต้องอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ และต้องรักษาธรรมชาติที่รายล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่ง ทวินริง โมเตกิ ได้สามารถสร้างสนามแห่งนี้ให้กลมกลืนกับธรรมชาติได้อย่างแนบเนียนถึงขนาดถ้าไม่รู้ว่าสถานที่ตรงนั้นเป็นสถานที่ใช้สำหรับแข่งรถก็ไม่อาจเห็นหรือทราบได้เลยว่ามีสนามแข่งรถได้ถูกสร้างตั้งขึ้นอยู่ที่นั่น ที่สนามของ ทวินริงโก โมเตกี ประกอบไปด้วยเส้นสนามสำหรับการแข่งในรายการยุโรป 1 วง และเส้นทางการแข่งขันแบบอเมริกันหรือวงรีอีก 1 วง โดยสนามแห่งนี้ได้สร้างไว้จัดรายการแข่งขันระดับโลกมากมายทั้งการแข่งขันโมโตจีพีระดับโลก การแข่งขันเอฟวัน และการแข่งขัน Super GT ที่ได้ใช้เป็นการแข่งขันในสนามสุดท้ายของรายการการแข่งขัน

สนามสุดท้ายของการแข่งเป็นสนามที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นมนต์เสน่ห์ของเรื่องราวที่ต้องไปให้ถึงชัยชนะสำหรับนักแข่งทุกคน ราวกับเป็นเกียรติยศอันมีค่าที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นรายการแข่งขันที่กลายมาเป็นที่กล่าวขานในเวทีโลก นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มาเที่ยวชมที่สนาม ทวินริงโก โมเตกิ ยังมีจุดบริการหลายแห่งให้ได้ลิ้มรสเรื่องราวในด้านความเร็วและธรรมชาติไปพร้อมกัน อีกทั้งยังได้ร่วมมาเป็นสักขีพยานอีกหนึ่งเสียงของสนามที่เป็นหน้าหนึ่งในประศาสตร์การแข่งขัน Super GT สนามของแชมป์แห่งความเร็ว

 

รถยนต์ Super GT ราชสีห์แห่งความเร็ว

ในการแข่งขันรถยนต์ที่ถูกจัดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ในแต่ละการแข่งขันรถยนต์ที่ถูกนำมาใช้จะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ความสำคัญที่ใช้ในการแข่งขัน ตั้งแต่ เอฟวัน หรือ การแข่งรถสูตร 1 การแข่งแรลลี่ และการแข่ง Super GT ทั้งหมดนั้นล้วนแต่มีการใช้จุดสำคัญของรถในเชิงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเอฟวันเป็นการแข่งขันที่ใช้รถยนต์ที่ต้องเร็วที่สุดในโลกรถที่ใช้จะต้องมีความเบาที่สุด ส่วนการแข่งขันแรลลี่ที่ต้องเผชิญตะลุยมหกรรมเส้นทางวิบากนั้นรถที่ใช้จะต้องมีความใหญ่หนักอึดและทนต่อทุกสภาพอากาศ และในแบบ Super GT ที่ต้องใช้ทั้งความเร็วและความแข็งแกร่งดังนั้นรถที่ใช้สำหรับการแข่งจำเป็นต้องใช้รถที่มีความเบาอึดและทนอย่างครบถ้วนราวกับราชสีห์ติดปีกที่ต้องคำรามเหาะอยู่เหนือท้องถนน

แบบของรถแข่ง GT ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น GT300 และ GT500 ซึ่งมีความหมายเท่ากับแรงม้าของรถคันนั้น โดยมีรูปแบบคล้ายกับรถยนต์สปอร์ตคาร์ที่มีขายอยู่โดยทั่วไปแต่ได้มีการสร้างทั้งบอดี้และตัวถังของรถยนต์ขึ้นมาใหม่สำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ ดังนั้นรถที่นำมาแข่งในรายการนี้จะเป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และยังไม่มีการวางขายในท้องตลาด ทำให้รถยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันเป็นการแสดงถึงวิวัฒนาการของรถยนต์ในแต่ละค่ายว่ามีการพัฒนาระบบยานยนต์ก้าวไกลไปถึงไหนในปัจจุบัน สำหรับในรุ่น GT500 จะสามารถให้ใช้เครื่องยนต์ประเภทใดก็ได้วางที่ส่วนไหนของรถก็ได้แต่ต้องเป็นของในค่ายเท่านั้น และจะต้องทำความเร็วเครื่องไม่ให้เกิน 500 แรงม้า ตามที่กติกากำหนด ส่วนในเรื่องของบอดี้สามรถตกแต่งแบบใดก็ได้แต่จะต้องมีความเหมือนกับรถที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดเท่านั้น แต่ในแบบ GT 300 จะมีกฎกติกาที่เข้ามากำหนดมากกว่าเพราะว่าต้องการให้รถแข่งในรุ่นนี้มีความคล้ายคลึงหรือเหมือนกับรถที่ขายอยู่ในโชว์รูมรถยนต์มากที่สุด ทั้งเรื่องของเครื่องยนต์ บอดี้ และแอโรพาร์ท ทำให้รถรุ่นนี้ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบไปต่างจากเดิมได้มากนัก

ปัจจุบันในปี 2018 ปีนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันรุ่น GT 500 มาจาก 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ฮอนด้า นิสสัน และโตโยต้าเลกซัส ส่วนผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันในรุ่น GT 300 จากดินแดนอาทิตย์อุทัยประกอบไปด้วยบริษัท โตโยต้า นิสสัน ซูบารุ และฮอนด้า รวมถึงบริษัทผู้เข้าแข่งขันที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากดินแดนแถบยุโรป ได้แก่ ปอร์เช่ บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส เบนซ์ ออดี้ โลตัส และเลกซัส ที่เข้ามาร่วมประชันราศีกันอย่างล้นหลาม ส่วนทีมใดจะเข้ามาคำรามได้อย่างกึกก้องลั่นสนั่นปฐพีคงจะต้องคอยติดตามคำตอบกันได้ในปลายปีนี้ที่กำลังจะมาถึง

 

Super GT เอกอุความเร็วระดับโลกแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย เป็นชื่อเสียงเรียงนามที่ถูกแปลมาจากอักษรคันจิของประเทศ ญี่ปุ่น ซึ่งมีความหมายว่าถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์ ทำให้ผู้คนมักเรียกประเทศญี่ปุ่นว่าว่า ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย และนอกจากประเทศญี่ปุ่นจะมีชื่อที่มีความหมายราวกับดวงอาทิตย์แล้ว ยังเป็นประเทศที่มีความเฉิดฉายในหลายด้านของโลกราวกับดวงอาทิตย์เฉกเช่นเดียวกันกับสมญานาม รวมถึงได้มีการจัดการแข่งขันรถยนต์ที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นการแข่งขันรถยนต์คลาส GT ที่มีความเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย

ในปี 1993 ประเทศญี่ปุ่นได้จัดตั้งรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่มีชื่อรายการว่า JGTC หรือ Japanese Grand Touring Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันที่จัดแข่งโดยใช้รถที่ผลิตภายในประเทศญี่ปุ่นทำการแข่งขันเท่านั้น และรายการนี้ยังเป็นการจัดแข่งขันกันเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว ก่อนที่การแข่งขันจะเป็นที่ติดตามของบรรดาผู้หลงไหลในความเร็วกันอย่างแพร่หลายในระดับโลก ทำให้นานาชาติได้สนใจและทำการบินเข้ามาร่วมแข่งขันกันอย่างมากมาย และเมื่อการแข่งที่จัดเพียงแค่ในประเทศเท่านั้นกลับได้รับความนิยมอย่างสูงจึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจจัดการแข่งขันในต่างประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อรายการแข่งขันเป็น Super GT เพื่อทำให้เป็นสากลในระดับนานาชาติมากขึ้นในปี 2014 จวบจนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันรถยนต์ Super GT เป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการแข่งขันจะเปิดฉากแข่งขันทั้งหมดใน 8 สนาม ตั้งแต่ต้นปีจนไปถึงสิ้นปี โดยการแข่งขันได้ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทคือแบบ Sprint Race และ Endurance Race ในแบบ Sprint Race คือการแข่งขันในระยะสั้นโดยใช้ระยะทาง 250 หรือ 300 กิโลเมตร ในการแข่งขัน ส่วนแบบ Endurance Race คือการแข่งขันที่ใช้ระยะทางแข่งขันมากถึง 1000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางการตัดสิน ซึ่งการแข่งขันจะถูกจัดขึ้นที่สนาม Suzuka Circuit เท่านั้น และมีชื่อใช้การแข่งขันว่า SUZUKA 1,000 KM  นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 2014 สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศไทย ได้ถูกบรรจุเป็นสนามที่ 7 ของการแข่งขันแบบ Super GT  โดยใช้การแข่งขันทั้งหมด 66 รอบสนาม แบบประเภท Sprint Race 300 km.

ด้วยความเร็วแบบคลาส GT ที่เร็วมากที่สุดในโลก และการตกแต่งรถยนต์ที่ทำให้การขับเคลื่อนเร็วราวกับเหาะอยู่เหนือท้องถนน ทำให้เป็นที่หลงใหลชื่นชอบในระดับกว้างเป็นอย่างมาก และเป็นโชคดีของประชาชนชาวไทยที่ได้มีโอกาสรับชมการแข่งขัน Super GT ได้แบบเกาะติดขอบสนามนอกเหนือจากประชาชนชาวญี่ปุ่น ซึ่งสามารถเดินทางไปดูความตื่นเต้นเร้าใจนี้ได้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงเวลาแข่งขันของสนามที่ 7 พร้อมทั้งจะได้เห็นพัฒนาการเทคโนโลยีรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นที่ได้แสดงถึงความแข็งแกร่งอันน่าเกรงขามดั่งเช่นสมญานามของประเทศในเวลานี้