NASCAR วิ่งวนวนเป็นวงรี มันสนุกตรงไหนเนี่ย

ลองนึกภาพตัวเองนั่งอยู่ในรถดัดแปลงที่มีแต่ที่นั่ง เครื่องยนต์ โครงเหล็ก และแผ่นไฟเบอร์ที่ครอบตัวรถเพื่อให้ดูรูปร่างว่ามันเป็นรถ วิ่งด้วยพลังสองร้อยแรงม้า ความเร็วเฉลี่ย 300 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง วิ่งวนบนถนนเป็นวงรีพร้อมรถคู่แข่งที่แรงพอ ๆ กัน เป็นระยะทาง 500 ไมล์ พลาดสติหลุดเพียงนิดเดียวมีสิทธิ์ลอยไปฟาดผนังจนรถกระจุยกระจายได้ทุกเสี้ยววินาที ลองคิดดูแล้วกันว่าการเป็นนักแข่ง NASCAR ต้องคลั่งแค่ไหนถึงจะลงมาแข่งอะไรประเภทนี้ได้ คนดูในสนามยิ่งคลั่งมากกว่า เพราะสามารถได้เห็นไหวพริบนักแข่งที่ช่วงชิงความได้เปรียบในช่วงวินาที ได้เห็นรถลายกราฟฟิกสวย ๆ มาประลองกัน ขณะเดียวกันก็มีสิทธิได้เห็นรถเหล่านั้นชนกันวินาศสันตะโร มันช่างสร้างความมันดีแท้

ความเป็นมาและกฎกติกาสุดมึน

บิล แฟรนซ์ ซีเนียร์ หรือ บิ๊กบิล ผู้ก่อตั้ง เขาและภรรยาย้ายมาเปิดอู่ซ่อมรถที่ฟลอริด้า ซึ่งสมัยนั้นมีพวกคลั่งแต่งรถมาประชันความเร็วกันทุกสัปดาห์ที่หาดเดโทน่า เขาเฝ้ามองการแข่งรถและความคลั่งไคล้ความเร็วของผู้คน เขาตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องจัดการแข่งรถที่ยิ่งใหญ่ขึ้นที่นี่ให้ได้ และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจึงรวมกลุ่มสมาคมแข่งรถทั่วประเทศ มาจัดตั้ง National Association for Stock Car Auto Racing หรือ NASCAR และจัดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งกฎการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาจนปัจจุบัน คนจะดูการแข่งให้รู้เรื่องควรจะเข้าใจกฎกติกาก่อน ซึ่งการแข่งขันแต่ละสนามจะแต่งต่างกันไป เช่น เดโทน่า 500 แปลว่าสนามนี้จะแข่งกัน 500 ไมล์ ใครวิ่งครบก่อนเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งเมื่อเอาระยะทางที่ต้องวิ่งมาหารด้วยระยะรอบของสนาม ก็จะได้จำนวนรอบที่ต้องแข่ง จากนั้นจะแบ่งเป็นสามสเตจ

สเตจแรกกับสเตจที่สองวิ่ง 25 % และที่เหลือจะวิ่งในสเตจที่สาม สเตจที่ 1 และ 2 จะให้คะแนนอันดับที่ 1 – 10 และสเตจที่ 3 จะให้คะแนนอันดับที่ 1 – 40 เมื่อวิ่งจบสเตจก็จะมีธงเหลืองให้พักแต่ไม่หยุดวิ่ง ใครจะเข้าพิทก็ตามใจแต่จะเสียอันดับ อันนี้ก็แล้วแต่แผนการของแต่ละทีม เมื่อผ่านไป 26 สนาม จะตัด 16 คนที่คะแนนมากที่สุดเข้ารอบเพลย์ออฟ แต่ที่เหลือจะยังแข่งอยู่ได้เพื่อเก็บคะแนนสะสม จากนั้นทุก ๆ สามสนามจะตัดออกทีละ 4 คน จนเหลือ 4 คนสุดท้ายมาแข่งในสนามสุดท้าย สนามที่ 36 หาแชมป์คว้ารางวัล 1 ล้านดอลล่า

กีฬาอเมริกันชนคือความสุดโต่ง

สำหรับกีฬาของชาวอเมริกันบางอย่างมันก็สวนทางกับความเข้าใจของแฟนกีฬาประเทศอื่น ไม่ว่าจะอเมริกันฟุตบอล เบสบอล หรือ NASCAR บางครั้งมันก็เข้าใจยากสำหรับคนอื่น ๆ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นอเมริกันมันต้องสุดอยู่แล้วทั้งจำนวนผู้ชม สปอนเซอร์หรือความคลั่งไคล้ ถ้าอยากจะเข้าใจจริงบางทีอาจจะต้องศึกษาและค่อย ๆ ซึมซับให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เราอาจจะได้เข้าใจว่ารสชาติความมันแบบอเมริกันมันเป็นยังไง