Monte-Carlo สนามแข่งขันรถทางเรียบที่ถูกโหวตว่าสวยที่สุดในโลก

ถ้าจะเอ่ยถึงการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ใช้ความเร็วมากที่สุด ก็คงเป็นรายการ Formula 1 ที่นักแข่งความเร็วทั่วโลกต่างใฝ่ฝันที่จะได้เข้าร่วมรายการนี้ และถ้าเอ่ยถึงสนามแข่ง Formula1 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า F1 มีสนามที่เรียกว่าสวยงามมากที่สุดในบรรดาสนามแข่งทั้งหมด ก็คงหนีไม่พ้นสนาม Monte-Carlo Street Circuit ประเทศโมนาโก (Monaco)

สนามแข่งรถ Monte-Carlo (มอนติคาร์โล) แห่งประเทศโมนาโกเป็นหนึ่งใน 18 สนามแข่งขันรถ F1 ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความงดงามและยิ่งใหญ่มากที่สุดในโลก ด้วยความสวยงามของเมืองมอนติคาร์โลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเพราะลักษณะทางกายภาพของเมืองที่อยู่ใกล้กับตีนเขาแอลป์ (Alp) และยังถูกล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มอนติคาร์โลจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สุดแสนโรแมนติกมากแห่งหนึ่งของโลก

สนามแข่งรถ Monte-Carlo เป็นถนนที่อยู่บริเวณท่าเรือที่มีชื่อเสียงของประเทศโมนาโก มีความยิ่งใหญ่ด้วยระยะทาง 78 รอบตลอดสนามแข่งขัน 3.340 กิโลเมตร ซึ่งต้องวิ่งไปตามถนนที่แคบและคดเคี้ยวของมอนติคาร์โลและลาคอนดามีน ส่วนทางตรงสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว จึงเป็นสนามแข่งรถที่มีทั้งความสวยงามและความน่าตื่นเต้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ สนามแห่งนี้ถูกใช้เป็นสนามแข่งรถ F1 หรือเรียกว่า Monaco Grand Prix ตั้งแต่ปี 1929 เวลาในการเซ็ตสนามแข่งขัน ใช้เวลาถึง 6 สัปดาห์ และใช้เวลารื้อถอนอีก 3 สัปดาห์หลังการแข่งขันเสร็จสิ้น

ประวัติความเป็นมาที่น่าทึ่งและความเย้ายวนใจของสนาม MonteCarlo

ก่อนจะมาเป็นสนามแข่งกรังด์ปรีซ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและมีความสมบูรณ์แบบ ผู้ริเริ่มการแข่งขันครั้งแรกของสนามแห่งนี้คือประธาน Automobile Club de Monaco คือคุณ Antony Noghes ในปี 1929 และนักแข่งที่สามารถขับเข้าเส้นชัยได้เป็นคนแรกคือ William Grover-Williams ด้วยรถแข่ง Bugatti Type35

การปรับปรุงสนามครั้งที่ 1 เมื่อปี 1973-1975 จากสนามเดิมที่มีความยาว 3.145 กิโลเมตร จำนวน 14 โค้ง ได้ปรับความยาวสนามเพิ่มขึ้นเป็น 3.278 กิโลเมตร จำนวนโค้ง 14 โค้ง (เท่าเดิม) จากนั้นมีการปรับปรุงสนามอีกหลายครั้ง โดยการปรับปรุงครั้งที่ 4 ในปี 1997-2002 มีความยาวอยู่ที่ 3.328 กิโลเมตร จำนวน 25 โค้ง

จนกระทั่งในปี 2003 มีการปรับปรุงสนามแข่ง Monte-Carlo อีกครั้งให้มีความยาวของสนามอยู่ที่ 3.340 กิโลเมตร จำนวนโค้ง 19 โค้ง โดยนักแข่งที่สามารถทำเวลาดีที่สุดในสนามแห่งนี้ คือ มิชชาเอล ชูมัคเคอร์ (Michael Schumacher) นักแข่งรถสูตรหนึ่งชื่อดัง ชาวเยอรมัน ในรถ Ferrari 2004 ด้วยเวลา 1.14.439 นาทีเท่านั้น

ด้วยความสวยงามและทัศนียภาพที่เย้ายวนใจของสนามแข่งมอนติคาร์โล กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปสัมผัสการแข่งขันกรังด์ปรีซ์อย่างใกล้ชิด ช่วงเทศกาลผู้คนต่างจองตั๋วเพื่อให้ได้ที่นั่งที่ดีที่สุดเพื่อชมการประลองความเร็วในสนามแห่งนี้ และหากเป็นนอกฤดูกาลแข่งขันผู้คนที่เป็นแฟน F1 ต่างก็ชื่นชอบที่จะลองขับรถไปตามถนนที่ใช้เป็นสนามแข่งซึ่งสามารถมองเห็นสถานที่ที่สำคัญและสวยงามของเมืองได้ชัดเจน เช่น พระราชวังพรินซ์, คาสิโนมอนติคาร์โลและท่าเรือโมนาโก เป็นต้น

CRF 450 Rally เอนดูโร่ตัวแกร่งของฮอนด้า ผงาดใน Dakar 2020

ฮอนด้าเข้าร่วมในการแข่งขันแรลลี่ดาก้าร์ครั้งแรกในปี 1981 และคว้าแชมป์สี่สมัยซ้อนในปี 86 – 89 ในครั้งนั้นฮอนด้าครองบัลลังค์ความยิ่งใหญ่ และสร้างฐานะให้เหล่านักพันสายความเร็วด้วยรถ Honda Africa twin แต่หลังจากนั้นทีมฮอนด้าถอนตัวไปหลายปี ปล่อยให้ KTM ครองบัลลังก์แชมป์ได้ถึง 18 สมัยในรอบ 31 จนในปี 2013 ฮอนด้ากลับมาอีกครั้งภายใต้ชื่อทีม “มอนสเตอร์ เอนเนอร์จี้ ฮอนด้า” ด้วยรถ Honda CRF 450 Rally และสามารถทำผลงานได้ไม่เลว สามารถคว้ารองแชมป์ได้ในปี 2015 และ 2018 จนในปี 2020 ฮอนด้ากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ครั้งแรกหลังจากปล่อยให้แฟน ๆ รอคอยมาถึง 31 ปี

7839 กิโลเมตร ท่ามกลางทะเลทรายหฤโหด

ดาก้าร์ 2020 เปลี่ยนจากสนามแข่งที่อเมริกาใต้มาประลองความมันกันที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เส้นทางผ่าทะเลทรายเวิ้งว้างและร้อนระอุ และอุปสรรคสุดโหด ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าแรลลี่ดาก้าร์โหดแค่ไหน เกือบทุกครั้งจะต้องมีนักแข่งที่แข่งไม่จบ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อในสเตจที่ 7 เปาโล กอนคาลเวส นักบิดชาวโปรตุเกสวัย 40 ปีจากทีมฮีโร่ ทีมแข่งสัญชาติอินเดีย ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงเสียชีวิต ทำให้การแข่งขันในสเตจที่ 8 ถูกยกเลิกไปต้องมาแข่งกันต่อใน 4 สเตจสุดท้าย

ริกกี้ บราเบ็ค นักแข่งชาวอเมริกัน จากทีมฮอนด้าสามารถเอาชนะการแข่งได้ ด้วยรถ Honda CRF 450 Rally ด้วยเวลา 40 ชั่วโมง 2.36 นาที  ซึ่งในครั้งนี้เพื่อนร่วมทีมฮอนด้าอีกสองคน โฮเซ่ อินาซิโอ้ คอร์เนโฮ่ จบอันดับ 4 และ โจอัน บาร์เรต้า จบอันดับ 7 ทำให้ทีมฮอนด้ามีนักแข่งจบใน 10 อันดับแรกถึง 3 คน นับเป็นการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากถูกค่อนขอดมาหลายปีว่าสายการผลิตรถโรงงานจากฮอนด้าตกต่ำลง และอาจจะไม่มีวันผลิตรถที่เหนือเจ้าอื่นได้อีกแล้ว ซึ่งฮอนด้าก็ใช้เวลาพัฒนาอยู่เกือบสามสิบปีกว่าจะตัดสันใจ เข็นเจ้ารถ CRF 450 ออกมาและปล่อยลงมาวาดลวดลายในแรลลี่ดาก้าร์อีกครั้ง จนคว้าแชมป์ไปได้ในที่สุด

ทำเนียบผู้ชนะในครั้งนี้ ริกกี้ บราเบ็ค นักบิดชาวสหรัฐอเมริกา สังกัด มอนสเตอร์ เอนเนอร์จี้ ฮอนด้า ทีม ทำเวลา 40 ชั่วโมง 2.36 นาที ปาโบล ควินตานิลลา นักบิดชาวชิลี สังกัด ฮัสควาน่า แฟ็คตอรี่ เรซซิ่ง ทีม ทำเวลาห่างผู้ชนะ 16.26 นาที โทบี้ ไพรซ์ นักบิดจากออสเตรเลีย สังกัด เคทีเอ็ม แฟ็คตอรี่ เรซซิ่ง ทีม ทำเวลาห่างผู้ชนะ 24.06 นาที

จะครองความยิ่งใหญ่ไปอีกหลายปี                

แม้การแข่งจะพึ่งพาประสบการณ์และความอึดของนักแข่ง แต่สำหรับแรลลี่ดาการ์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมรรถนะของรถเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และฮอนด้าเองก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่ารถจากโรงงานของฮอนด้าตัวใหม่อย่าง CRF 450 ก็สามารถกลบเสียงวิจารณ์มาตั้งแต่ออกใหม่ ๆ ว่าจะสู้คู่แข่งอย่าง KTM BMW หรือแม้กระทั้งเพื่อนร่วมชาติอย่าง YAMAHA ได้หรือไม่ 7839 กิโลเมตร 12 สเตจใน 3 วัน เป็นคำตอบได้อย่างดี

อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ คนไทยคนแรกใน F1

23 มีนาคม 1996 อัลบอน ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลพอร์ตแลนด์ ในลอนดอน คุณพ่อของเขาคืออดีตนักแข่งรถ ไนเจล อัลบอน ส่วนแม่ของเขา กัญญ์กมลเป็นชาวไทย อัลบอน เด็กลูกครึ่งไทยธรรมดาคนหนึ่งซึ่งได้เลือดนักขับจากพ่อ หลังจากเรียนประถมที่โรงเรียนในอิปสวิช เขาออกจากโรงเรียนเพื่อเริ่มต้นการเป็นนักขับอาชีพตามความฝันในสายเลือด ซึ่งฝันของเขานั้นเรียบง่ายและชัดเจน นั่นคือ การเป็นนักขับ F1

อัลบอนเริ่มต้นเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ที่อยากจะเป็นนักแข่งรถ นั่นคือโกคาร์ท และหลังจากเริ่มต้นในวัย 8 ขวบเขาก็เริ่มคว้าแชมป์อย่างต่อเนื่อง และไปถึงจุดสูงสุดในการคว้าแชมป์โกคาร์ททั้งแชมป์ยุโรปและแชมป์โลก ในคลาส KF3 และในวัย 16 ความฝันก็ใกล้เข้ามาอีกนิด เมื่อทีมเรดบูลคว้าตัวมาอยู่ในสังกัดในฐานะนักขับเยาวชนของทีม

6 ปี กับความฝันที่แสนยากเย็น

แต่การเปลี่ยนมาขับรถล้อเปิดเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และทำให้การปรับตัวนั้นแสนยากลำบาก เขาเก็บคะแนนไม่ได้เลยในการแข่งขัน ฟอร์มูล่า เรย์โนลด์ 2.0 กับทีมเอพิค เรซซิ่ง และนั่นทำให้สัญญาการเป็นนักขับเยาวชนของอัลบอนสั้นแค่ปีเดียว อัลบอนรู้สึกแย่แต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อผลงานไม่ตามเป้าก็ต้องจากไป ปีต่อมาเขาได้รับโอกาสอีกครั้งกับทีม KTR ด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้นเขาทำผลงานได้ดีจนจบอันดับสาม จากนั้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปขับ ฟอร์มูล่า 3 กับทีมซิกเนเจอร์ แม้จะมีแข่งไม่จบสนามอยู่บ้าง แต่ปีนั้นเขาขึ้นโพเดียมไป 4 ครั้ง และจบอันดับ 7

และด้วยผลงานนั้น ทีม ART กรังด์ปรีซ์ ดึงเขาไปร่วมทีมเพื่อแข่งรายการ GP3 ซึ่งเป็นครั้งแจ้งเกิดของเขา เพราะตลอดฤดูกาลเขาขับเคี่ยวกับชาร์ล เลอแคลร์ เพื่อนร่วมทีมที่มีดีกรีถึงอดีตเด็กฝึกของเฟอร์รารี่ได้อย่างสูสี จนพลาดแชมป์ไปนิดเดียวแค่สนามสุดท้ายเพราะแข่งไม่จบ แต่เพียงแค่นี้ก็เพียงพอให้ทีมดึงตัวเขาขึ้นไปแข่งในฟอร์มูล่า 2 ซึ่งเป็นเส้นทางสายตรงไปสู่ฟอร์มูล่า 1 แม้จะทำผลงานได้ดีแต่การขึ้นไปฟอร์มูล่า 1 ไม่ใช่เรื่องงาน มีเพียง 20 ที่นั่งเท่านั้นในแต่ละปี และสปอนเซอร์ก็ไม่ได้มีเงินมากพอจะดันเขาขึ้นไป โอกาสกำลังจะหลุดลอยไป จนทีมโตโรรอสโซ่ ทีมน้องของเรดบูลเห็นความสามารถจึงดึงไปร่วมทีม แต่ช่วงนั้นอัลบอนทำผลงานไม่ดีนักทีมจึงยังรอดูก่อน ยังไม่ส่งลงฟอร์มูล่า 1 แต่อัลบอนไม่อยากรออีกแล้ว เขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปขับฟอร์มูล่า อี ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ากับทีมนิสสัน ความฝันการเป็นนักขับเอฟ 1 ดูจะหลุดลอยไปแล้ว

แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อทีมเรดบูลดึงตัวนักขับของโตโรรอสโซ่ไป และนักขับมือสองก็ยังไม่เข้าตาผู้บริหาร หวยจึงมาออกที่อัลบอนอย่างน่าอัศจรรย์ เขาได้ขึ้นไปขับF1 ทั้งที่ยังไม่ได้ขับฟอร์มูล่า อี เลยด้วยซ้ำ

ประวัติศาสตร์เริ่มอีกครั้ง

เมื่อฤดูกาลเริ่มต้น อัลบอนได้ทำตามความฝันสำเร็จ แต่เขารู้ดีว่าถึงจะมาถึงฝันแล้วแต่หากผลงานไม่ดีสิ่งเหล่านี้ก็หลุดลอยไปได้ทุกเมื่อ ถึงตรงนี้อัลบอนได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศเล็ก ๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ว่าเป็นนักขับฟอร์มูล่า 1 ชาวไทยคนที่ 2 ในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ที่ทรงลงแข่งขันรถสูตรหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1950

นักแข่งเอฟวัน แข่งเสร็จต้องชั่งน้ำหนักด้วยนะ นี่นักแข่งหรือนักมวย

ตามกฎของเอฟวันน้ำหนักรถและน้ำหนักคนรวมกันทั้งก่อนแข่งและหลังแข่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 740 กิโลกรัม และน้ำหนักนักแข่งรวมน้ำหนักในค็อกพิทจะต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลกรัมทั้งก่อนแข่งและหลังแข่ง ซึ่งหากน้ำหนักนักแข่งไม่ถึงจำเป็นต้องใส่ตัวถ่วงน้ำหนักเพิ่มเข้าไปให้ถึง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันเรื่องน้ำหนักของนักขับ ซึ่งนักขับที่มีน้ำหนักน้อยย่อมได้เปรียบนักขับที่มีน้ำหนักเยอะ เพราะการแข่งรถที่มีความเร็วสูงมีการทำเวลาต่างกันระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะเป็นระดับเสี้ยววินาที น้ำหนักน้อยลงสักเพียงแค่หนึ่งขีดย่อมมีผลต่อเวลา ดังนั้นจึงต้องกำหนดน้ำหนักต่ำสุดขึ้นมา และนักแข่งต้องควบคุมน้ำหนักให้ได้ไม่ต่ำกว่านั้น

แล้วทำไมต้องชั่งหลังแข่งอีกครั้ง

ในการแข่งขันรถฟอร์มูล่าหรือเอฟวัน ความแรงของรถอัตราเร่งของมันยามทะยานไปบนสนามแข่งสามารถสร้างแรงกดได้ถึงระดับ 5G แรงกด 1G เท่ากับ 9.8 เมตรต่อวินาที ในแรง 5G สามารถทำให้คนน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องแบกน้ำหนักตัวเองถึง 300 กิโลกรัมเวลาเร่งความเร็วถึง 5G และเวลาการแข่งขันในแต่ละครั้งยาวนานถึง 90 นาที แต่หมวกกันน็อคน้ำหนัก 1 กิโลกรัมเมื่อเร่งความเร็วถึงที่สุดมันอาจจะหนักถึง 7 กิโลกรัม นักแข่งต้องแบกน้ำหนักขนาดนั้นในสภาวะความเร็วและความเครียดถึง 90 นาที หัวใจของนักแข่งเต้นเร็วถึงจังหวะของนักวิ่งมาราธอน บางครั้งอาจสูงถึง 170 ครั้งต่อนาที ซึ่งเต้นเร็วขนาดนั้นถ้าไม่แข็งแรงพออาจจะล้มเหลวได้เลย

เมื่ออยู่ในภาวะที่หนักหน่วงขนาดนั้นประกอบกับความร้อนในห้องนักแข่ง มันอาจทำให้น้ำหนักของหนักแข่งน้อยลงระหว่างแข่งได้ถึง 5 กิโลกรัม ความได้เปรียบเสียเปรียบจึงเกิดขึ้น น้ำหนักของรถรวมนักแข่งอาจตกลงไปต่ำกว่าผู้จัดการแข่งขันกำหนด ดังนั้นทีมจึงมีหน้าที่ระวังและคอยทำน้ำหนักระหว่างการแข่งให้พอดีไม่อย่างนั้นอาจถูกตัดสิทธิในการแข่งได้ ซึ่งทางที่ปลอดภัยคือนักขับต้องทำน้ำหนักเผื่อไว้ก่อน แต่จะกินจนหนักมากไปก็ไม่ได้เพราะน้ำหนักก็มีผลกับความเร็ว

ฉะนั้นการเป็นนักขับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย น้ำหนักต้องไม่มากไปไม่น้อยไป และต้องแข็งแรงในระดับที่เรียกว่ายอดมนุษย์เลยทีเดียว เพราะการอยู่ในแรงดันถึง 5G เป็นเวลานานนาน ทั้งต้องมีสมาธิตลอดเวลา อัตราเต้นของหัวใจมากขนาดนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติที่มนุษย์ธรรมดาจะทนได้ นักขับต้องฝึกฝนร่างกายมวลกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรงทนทานต่อแรงกดดันได้ตลอดเวลา

ความฟิตเท่านั้นคือคำตอบ                

สำหรับใครที่อยากเป็นนักแข่งอย่าคิดว่าแค่รถแรงก็ชนะแล้ว แค่รถแรงอย่างเดียวไม่พอคนขับก็ต้องฟิตถึงด้วย เพราะต้องใช้ร่างกายจิตใจและสมาธิ เพ่งลงไปในการขับทุกวินาที ทุกโค้งทุกเนินมีความหมาย พลาดนิดเดียวอาจลงไปนอนหงายท้องข้างถนน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ในสนามแข่งเท่านั้น บนถนนก็เช่นกัน ถ้าร่างกายไม่พร้อมอย่าคิดว่าจะโชคดีไปตลอดทาง

การจัดลำดับออกตัวเวลาแข่งรถเค้าดูจากอะไร มาสนามช้าเหรอ?

เวลาดูแข่งรถใครที่รู้สึกไม่ยุติธรรมทุกครั้ง เวลาคนที่เราเชียร์ไปอยู่ข้างหลัง รถตั้งเยอะจะแซงไปหมดได้ยังไง ส่วนคันหน้าก็พอปล่อยปุ๊บก็พุ่งไปปุ๊บไม่มีใครขวาง อย่างนี้คันหลังสุดก็เหนื่อยสิ แล้วจะทำยังไง หรือควรโทรไปปลุกพี่เค้าให้มาสนามเร็ว ๆ หน่อยจะได้ออกตัวหน้า ๆ จะมานอนตื่นสายตอนชิงแชมป์แบบนี้ไม่ได้นะ ใครที่รู้สึกแบบนี้ก็ขอบอกไว้เลยว่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไป ทุกอย่างมีความยุติธรรม มาดูกฎระเบียบเรื่องนี้กัน

รูปแบบการจัดลำดับการออกตัว

การจัดลำดับการออกตัวหรือที่เรียกว่า Pole position นั่นแตกต่างกันไปตามรูปแบบการแข่งขันแต่ละรายการ อย่างรายการฟอร์มูล่า วัน แต่ละสนามทุกทีมจะได้รับโอกาสลองสนามให้คุ้นชินในวันศุกร์ เรียกว่า Friday practice จากนั้นวันเสาร์ ทุกทีมจะได้รับโอกาสได้ใส่เดี่ยว ซึ่งหมายถึงให้วิ่งในสนามตั้งแต่จุดสตาร์ทถึงเส้นชัยและเก็บเวลาที่ทำได้ไว้เทียบกับทีมอื่น ๆ เรียกว่า Qualify ใครที่ทำเวลาดีที่สุดจะได้อยู่หน้าสุดใน Sunday racing คนทำเวลาได้รองลงมาก็อยู่ลำดับถัดไป ใครช้าก็รั้งท้าย ตื่นก่อนตื่นหลังไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ที่ว่ามาคือการแข่งรถที่อยู่ประเภทเดียวกันสมรรถนะไม่ต่างกัน แต่บางครั้งในการแข่งสนามเดียวกันก็จะมีรถที่ต่างสมรรถนะกัน และรางวัลไม่แยกรุ่น รถที่สมรรถนะด้อยกว่าจะได้ไปอยู่ข้างหน้า เรียกว่า Handy cap หรือต่อให้น้องนั่นแหล่ะ แต่ถ้าสมรรถนะต่างกันและแยกประเภทรางวัลรถที่แรงกว่าจะได้สตาร์ทก่อน หรือบางรายการรถที่ทำเวลาสนามก่อนได้ดีกว่า มีคะแนนสะสมดีกว่า ก็จะได้อยู่หน้าไปเลยไม่ต้อง Qualify หรือบางรายการเช่น WTCC เวิลด์ทัวริ่งคาร์แชมเปี้ยนชิพ รถที่ชนะสนามก่อนจะได้ไปอยู่หลัง แถมเพิ่มน้ำหนักให้อีก งงป่ะล่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม จะอยู่หน้าอยู่หลังก็ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่กำหนดชัยชนะ บางครั้งอยู่หน้ากดคันเร่งนำก่อนเป็นกิโลแต่อยู่ ๆ ยางแตกกว่าจะลากตัวเองเข้าพิทได้ก็ตกไปอยู่ท้ายซะแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องให้เห็นเป็นประจำ หรืออยู่หลังสุด บ๊วยสุด แต่วันนี้ผีเข้ากดซ้ายแซงขวาผ่ามาทุกรอบ ก็ขึ้นที่หนึ่งได้เช่นกัน เพราะการแข่งรถจะชนะได้ไม่ใช่แค่ขับเก่งอย่างเดียว รถ ทีมงานช่าง การวางแผน ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญทั้งหมด คนขับเก่งแต่รถไปไม่ไหวก็แพ้ รถดีแต่คนขับไม่พร้อมก็ลงข้างทาง รถดีคนขับดีแต่วางแผนเข้าพิทไม่ดีก็เหนื่อย หรือรถดี คนขับดี วางแผนมาอย่างเยี่ยมยอดแต่เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ ชนกันหรืออะไรก็ตามมันมีผลต่อชัยชนะทั้งนั้น แบบนี้หากคุณเป็นผู้ชมที่ชอบการวางเดิมพันด้วย ยิ่งต้องศึกษาดูฟอร์มทุกทีม ไม่เลือกเฉพาะตัวท็อปหรือผู้ชนะก่อนหน้านี้เท่านั้น

พร้อมที่สุดดีที่สุด ที่เหลือก็คือวาสนา                

แต่ที่พูดมาถ้าบอกว่าเตรียมพร้อมแค่ไหนถ้าซวยก็ไม่ชนะ งั้นไปทำบุญเอาแล้วกันไม่ต้องเตรียม มันก็ไม่ใช่อีก ทางที่ดีที่สุดคือพร้อมทุกด้านกำจัดปัจจัยที่จะพ่ายแพ้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางทีการเลือกหลวงพ่อที่จะไปบนก็เป็นหนึ่งในเช็คลิสต์ที่ต้องทำ

เสียงท่อที่ดังมีผลต่อความแรงแค่ไหน

เวลาขับรถไปบนถนน บางครั้งจะได้ยินเสียงท่อรถที่ดังจนน่าตกใจ เราคงต้องมองกระจกหลังไปดูพลางคิดว่าจะได้เห็นซุปเปอร์คาร์เท่ ๆ แพง ๆ ผ่านมาให้เห็นเป็นบุญตาแน่นอน แต่พอเอาเข้าจิงกลับกลายเป็นรถอีโคคาร์ญี่ปุ่นทั่วไป แล้วทำไมท่อดังขนาดนั้น หรือมีการตัดแต่งเครื่องยนต์โมอัพจนแรงทะลุนรก เดี๋ยวมันต้องโฉบผ่านเราไปในพริบตาแน่นอน ซึ่งบางคันก็เป็นแบบนั้น แต่บางคันมันก็ไม่ได้เร็วอะไรนี่ แล้วจะทำให้ดังไปขนาดนั้นทำไม แล้วเสียงท่อมันดัง ๆ สัมพันธ์กับความแรงหรือเปล่า

ระบบเครื่องยนต์ที่มีผลต่อความแรง

เครื่องยนต์สันดาปอย่างที่เราคุ้นเคยกันจะแรงบ้างเบาบ้างนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่าง ตามจุดมุ่งหมายที่มันถูกสร้างมา ตามหลักการแล้ว เมื่อไดชาร์จปั่นแกนลูกสูบให้เริ่มหมุน อากาศในกระบอกสูบจะถูกดูดถูกอัด ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลงที่ถูกฉีดเข้ามาและจุดระเบิดอย่างแรง ถีบลูกสูบแต่ละลูกให้กลับไปหมุนแกนเหวี่ยงจนเกิดการทำงานต่อเนื่องสัมพันธ์กันไป เมื่อเครื่องยนต์หมุนไดชาร์จก็หยุด และเป็นหน้าที่ของระบบฉีดเชื้อเพลิงและระบบอัดอากาศที่จัดมามากน้อยตามคันเร่งที่ถูกเท้าเราเหยียบ ดังนั้นปัจจัยความแรงของเรื่องยนต์จึงมีอยู่หลายปัจจัย เช่น ปริมาตรกระบอกสูบ ที่ยิ่งมากอากาศและเชื้อเพลิงที่ถูกดูดเข้ามาก็มากเมื่อมันถูกจุดระเบิด การระเบิดจึงรุนแรง เมื่อเท่านี้ยังไม่พอ จึงมีการพัฒนาระบบอัดอากาศเพื่อสามารถเพิ่มปริมาณอากาศเข้ามาในกระบอกลูกให้มากกว่าที่ปริมาตรกระบอกจำดูดเข้ามาได้ นั่นคือเทอร์โบ เทอร์โบทำหน้าที่ดูดอากาศจากภายนอกอัดเข้าไปในกระบอกสูบให้ทันมากกว่าปกติ เมื่อเกิดการจุดระเบิดจึงมีความรุนแรงมากขึ้น เครื่องยนต์ก็หมุนเร็วขึ้น หรือไม่งั้นบางเครื่องยนต์ก็ยังเพิ่มวาล์วที่สามารถแปรผันจำนวนอากาศเข้ามาให้มากขึ้น เมื่อเครื่องยนต์หมุนถึงรอบของมัน เช่นระบบ Vtech และ vvti ของฮอนด้าและโตโยต้า ซึ่งตอนนี้ทุกยี่ห้อมีเทคโนโลยีนี้หมดเพียงแต่เรียกชื่อต่างกันออกไป

เมื่อพูดถึงระบบอัดอากาศแล้ว อีกปัจจัยก็คือระบบไอเสีย สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มความแรงของเครื่องยนต์ได้ก็คือระบบปล่อยอากาศเสียจากการเผาไหม้ ซึ่งก็คือสิ่งที่เราสงสัยว่ามันมีผลไหม ระบบท่อไอเสีย เริ่มตั้งแต่คอท่อที่ต่ออยู่กับเครื่องยนต์ ยิ่งปล่อยไอเสียจากระบบเผาไหม้ได้เร็วเครื่องยนต์ก็ยิ่งหมุนได้แรง แต่บางครั้งก็ไม่เสมอไป การปล่อยเร็วเกินไปเครื่องยนต์ก็อาจสูญเสียแรงดันในระบบ ทำให้เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้ไอเสียเดินทางออกอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เร็วเกินไป ซึ่งเมื่อไอเสียเดินทางออกถึงปลายต่อ รถบางคันจึงมีเสียงดัง และที่ปลายท่อนี้เองที่จะมีอุปกรณ์สำหรับดูดซับเสียงให้หายไป รถบางคันจึงไม่มีเสียงและรถบางคันจึงแผดเสียงได้ดังหูแทบแตก

สนองอารมณ์ล้วน ๆ                

จะเห็นได้ว่า เครื่องจะแรงแค่ไหน เสียงดังหรือไม่ดังมันถูกกำหนดที่ปลายท่อ ไม่ใช่กำลังของเครื่องแต่อย่างใด ดังนั้นความดังของท่อจึงถูกกำหนดด้วยรสนิยมของเจ้าของรถเป็นสำคัญ ไม่ได้เกี่ยวกับความเร็วแรงของรถแต่อย่างใด

FORMULA E ความเร้าใจในสไตล์รักษ์โลก

การแข่งขันฟอร์มูล่า อี ถูกจัดขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2014 โดยสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) เป็นสหพันธ์เดียวกับที่ดูแลการแข่งฟอร์มูล่า 1 โดยส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในรูปแบบสตรีทเซอร์กิต หรือการแข่งบนถนนในเมือง เพราะมีเสียงรบกวนน้อยและไม่ก่อมลพิษ เพราะเครื่องยนต์ของฟอร์มูล่า อี ไม่มีการสันดาปให้เกิดไอเสีย มันขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันบริษัทรถยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาเทคโนโลยีรถ EV เพื่อเป้าหมายการถ่ายทอดเทคโนโลยีลงมาสู่รถ EV ที่นำออกมาขายในตลาดรถทั่วไปในอนาคต

ประสิทธิภาพเทียบเท่า F1

หัวใจของรถพลังงานไฟฟ้า คือ ไม่ต้องเติมน้ำมัน ซึ่งความสำคัญของเครื่องยนต์ฟอร์มูล่า อี ก็คือแบตเตอร์รี่ ซึ่งแบตเตอร์รี่รุ่นล่าสุดมีขนาด 54 kWh ให้พลังงาน 54 กิโลวัตในหนึ่งชั่วโมง ซึ่งจะให้พลังงานไปปั่นมอเตอร์ไฟฟ้าส่งพลังไปสู่ล้อได้ถึง 250 กิโลวัตต์ เทียบเท่ากับรถ 270 แรงม้าเลยทีเดียว จึงไม่ต้องห่วงว่าเวลาดูการแข่งฟอร์มูล่า อี จะได้อรรถรส เหมือนดูรถแข่งประเภทใช้น้ำมันหรือไม่ เพราะความเร็วก็ไม่ต่างกัน

บริษัทต่าง ๆ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ของ Bloomberg ประเมินว่า ในปี 2040 ยอดขายรถ EV จะแซงหน้ารถเครื่องยนต์สันดาปเป็นครั้งแรก นั่นหมายความว่า 20 ปีต่อจากนี้จะมีการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องยนต์ EV ไปอย่างต่อเนื่อง และทุกประเทศก็เริ่มที่จะสนับสนุนรถ EV ให้มาแทนรถที่ใช้น้ำมันมากขึ้นเรื่อย ๆ และสนามการแข่งขัน ฟอร์มูล่า อี นี่แหล่ะที่จะเป็นแหล่งทดสอบความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปยังรถ EV ที่ผลิตขาย ในอนาคตเครื่องยนต์ EV จะแรงขึ้น วิ่งได้นานขึ้น ใช้เวลาในการชาร์ตไฟน้อยลง แบตเตอร์รี่มีอายุการใช้งานที่นานขึ้นและราคาถูกลง ดูเหมือนว่าจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่สำหรับรถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาปจะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ จนมีการกลัวกันว่า ต่อไปการแข่งรถฟอร์มูล่า 1 จะยังมีที่ทางของตัวเองอยู่หรือไม่

หากลองไล่ดูบรรดาค่ายรถที่ส่งรถลงแข่งขัน ฟอร์มูล่า อี จะเห็นว่ามีค่ายรถหลักของโลกแทบทั้งสิ้น เช่น ออดี้ อดีตเจ้ามอเตอร์สปอร์ตสายเอ็นดูรานซ์ ที่ประกาศยกเลิกพัฒนารถในการแข่ง เอนดูรานชิงแชมป์โลกลงมาพัฒนารถแข่งฟอร์มูล่า อี อย่างเต็มตัว และยังมีรถยี่ห้อดังอีกมากมาย ทั้งเมอร์เซเดส บีเอ็มดับเบิ้ลยู นิสสัน พอร์เชอ รวมถึงจากัวส์ ซึ่งทุกค่ายมีรถ EV ของตัวเอง และยังมีแนวโน้มว่ารถยนต์เจ้าอื่น ๆ จะทยอยลงมาสู้ศึกในรายการนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่ใช่แค่ฟอร์มูล่า โมโต จีพี ก็มา

ไม่ใช่แค่รถ 4 ล้อที่ขยับเรื่องเครื่องยนต์ EV รถสองล้ออย่างโมโตจีพี ก็เริ่มขยับตัวไปบ้างแล้ว โดยดอร์น่า สปอร์ต ผู้ถือลิขสิทธิ์ โมโตจีพี ได้เปิดตัวการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าชิงแชมป์โลกภายใต้ชื่อ ไอเอฟเอ็ม โมโต อี เวิลด์คัพ โดยจะถูกบรรจุอยู่ในการแข่งโมโตจีพีบางสนาม เราจะได้เห็นเทคโนโลยีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าลงมาอวดความแรงกันแน่นอน มันอาจถึงเวลาแล้วที่อนาคตกำลังจะเปลี่ยนทุกอย่างไปสู่ยุค EV ในอีกไม่นาน

รถจะแรงได้ต้องเกียร์แมนนวลเท่านั้นเหรอ

สังเกตเวลาดูหนังที่มีรถแรง จะฟาส 9 หรือป๊าด 8 สังเกตุว่าเวลาดวลความเร็วหรือเร่งแซงเราจะเห็นพี่พี่เค้าสับคันเกียร์อย่างแรง กระทืบคลัทช์อย่างกับมันเคยฆ่าพ่อเรา แล้วรถก็จะพุ่งทะยานไปอย่างกับจรวด ดูไปก็พลางสงสัยไปว่ารถล้ำขนาดนั้นไม่มี่เกียร์ออโต้เหรอ หรือตังน้อยพี่ดอมเลยไม่ซื้อตัวท็อป ซื้อตัวล่างสุดแล้วกระจกหมุนมือด้วยรึเปล่า หรือว่าเกียร์ออโต้มันไม่แรง แล้วในสนามแข่งทำไมเวลาดูถ่ายทอดสดไม่เคยเห็นชูมัคเกอร์สับเกียร์เลย ว่าแล้วมาลองตามอ่านข้อมูลที่เรานำมาเสนอให้คลายความสงสัยกันดีกว่า

แยกประเภทเกียร์กันก่อน

“ระบบเกียร์” ไม่ว่ารถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์คือระบบส่งกำลังจากเครื่องยนต์ลงไปที่ล้อผ่านระบบเฟืองขนาดต่าง ๆ เพื่อให้แรงบิดสัมพันธ์กับความเร็วและแรงต้านของรถ ตั้งแต่แรกเริ่มระบบเกียร์ก็เป็นแบบที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าแมนนวล คือเหยียบคลัทช์เพื่อให้เฟืองยกและปล่อยคลัทช์ให้เฟืองเข้าขบในเกียร์ที่เราต้องการ ผู้ขับต้องมีการฝึกฝนเพื่อเข้าใจในการเปลี่ยนเกียร์แต่ละครั้ง ส่วนเกียร์ออโต้คือการสั่งการเปลี่ยนเกียร์ด้วยระบบสมองกล กล่าวคือผู้ขับไม่ต้องทำอะไรใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งส่วนเท้าซ้ายจะเอามาก่ายหน้าผากยามต้องหาเงินผ่อนรถก็ได้ไม่ว่ากัน

มันจึงมีความแตกต่างกันระหว่างการทำงานของสมองคนและสมองกล ขาซิ่งทั้งหลายจึงพารู้สึกว่าสมองกลหรือจะมาสู้สมองคน จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ของเกียร์ออโต้มันไม่ทันใจโจ๋ มันไม่ยอมลากรอบสูง ๆ เพื่อดันพลังเครื่องยนต์ให้ปั่นรอบสูงแล้วปล่อยคลัทช์ระเบิดพลังลงไปที่ล้อแบบสะใจโจ๋ รถมันไม่กระชากไม่เร้าอารมณ์

ก็ว่ากันไปตามรสนิยมของแต่ละคน แต่ใช่ว่ารถเกียร์ออโต้จะไม่แรง เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาเพื่อสนองอารมณ์มนุษย์กันทั้งนั้น ระบบเกียร์ออโต้ก็เช่นกัน มันถูกปรับแต่งให้สามรถลากรอบหรือกระชากรอบแรง ๆ ได้ยามกดคันเร่งได้ไม่แพ้เท้าคน หรือในรถแข่งระดับเอฟวันที่เราไม่เห็นว่ามีการสับเกียร์ มันก็ไม่ใช่เกียร์ออโต้ซะทีเดียว มันยังมีสิ่งที่เรียกว่า เซมิ ออโต้ หลักการของมันก็คือตัดการเสียเวลาในการเหยียบคลัทช์ออกไป โดยใช้ระบบอัตโนมัติในการยกเฟืองเปลี่ยนเกียร์นั่นเอง โดยทันทีที่นักขับสะกิดคันโยกที่อยู่หลังพวงมาลัยโดยใช้แค่นิ้วเดียวเพื่อเปลี่ยนเกียร์ ระบบคลัทช์ก็ทำงานอัตโนมัติเร็วกว่าเท้าคนเหยียบคลัทช์ได้ในระดับเสี้ยววินาที ดังนั้นระบบเกียร์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ต่างกันมากทำงานคล้ายกันนั่นแหล่ะ เพียงแต่มันตอบสนองไปตามรูปแบบการใช้งาน ถ้ารถซื้อแกงจะลากรอบแรงไปทำไม หรือก็ใช่ว่าเกียร์ออโต้จะแซงเกียร์แมนนวลไม่ได้ ทุกอย่างมันก็อยู่ที่คนใช้ทั้งนั้นว่าต้องการอะไร

แล้วทำไมพี่ดอมต้องสับเกียร์ตลอด                

ก็อย่างว่า ในภาพยนตร์ความมันในอารมณ์เป็นส่วนสำคัญ ถ้าในระหว่างดวลความเร็วพี่ดอมใช้แค่เท่าขวาเหยียบคันเร่งแล้วเท่าซ้ายแคะขี้มูกมันก็คงไม่เท่ มันต้องมีการสับ การเหยียบ การดึงเบรกเพื่อให้รู้ว่าพี่ดอมขับรถแรงอยู่นะ ยังไงก็หนังทำให้ดูก็ดูไปเถอะ แค่รู้ไว้ว่าจะเกียร์อะไรก็แรงได้เหมือนกันนั่นแหล่ะ

รถซิ่งบนถนน กับรถซิ่งในสนามแข่ง ดวลกันใครชนะ

หลายครั้งก็เกิดคำถามเวลาอยู่บนถนนเวลาเห็นรถหลายคันที่แต่งซิ่ง เสียงท่อดัง เวลาไฟเขียวก็ออกตัวซะแรงจนนึกว่าพี่คิดว่าแข่งควอเตอร์ไมล์รึเปล่า หรือบางทีมองกระจกหลังเห็นพวกมากันเป็นแก๊งปาดซ้ายปาดขวาจี้ตูดกันมาติด พาเราเครียดว่าจะหลบไปทางไหนดี เกิดมันมุดมาไม่พ้นซัดท้ายเราขึ้นมาก็อดกลับไปเห็นหน้าลูกหน้าเมียกันพอดี ครั้งจะเปิดกระจกออกไปสรรเสริญวีรกรรมพวกพี่ ๆ เค้าก็กลัวจะไม่เข้าใจว่าเราชื่นชม พลางโกรธเกลียดมาทุบกระจกทักทายเราต้องบาทาอีก จึงได้แต่นั่งสงสัยอยู่คนเดียวว่าถ้าพวกพี่แรงนัก ทำไมไม่ไปสนามแข่งล่ะ ได้แชมป์โลกมารวยไม่รู้เรื่องเลยนะ

ถนนกับสนามแข่ง ทักษะที่ต่างกัน

ก็ต้องเข้าใจล่ะว่าอย่างหนึ่งที่นักซิ่งบนถนนไม่ยอมไปซิ่งในสนามก็เพราะหมดตังไปกับการแต่งรถ ใครจะไปมีตังลงแข่งในสนามที่ต้องมีกฎระเบียบ ค่าใช้จ่ายเรื่องความปลอดภัย ชุด หมวกกันน็อคที่ได้มาตรฐาน ทีมช่างที่เก่งกาจ และอะไหล่ที่พร้อมตลอดเวลา แถมรถทีแข่งในสนามต้องแต่งให้เบาที่สุด แอร์ก็ไม่มี เครื่องเสียงก็เลิกคิดได้เลย ไหนจะต้องมีที่นั่งเดียวแล้วจะมีสาวมานั่งข้างได้ยังไง แค่นี้ก็ไม่มีใครอยากไปลงสนามแล้ว

เอาล่ะ ถ้าลองตัดตัวแปรพวกนั้นออก มาดูสิว่าฝีมือเพียว ๆ ขาซิ่งบนถนนจะเอาตัวรอดบนสนามแข่งได้ไหม เพราะบนถนนกดคันเร่งอย่างเดียวปาดซ้ายปาดขวาได้เต็มที่ไม่มีใครอยากขวางพี่หรอก เพราะเพื่อนร่วมทางต่างอยากกลับบ้านไปเจอหน้าลูกเมียทั้งนั้น พี่อยากไปก็ไปไอ้เราก็ต้องนั่งตัวเกร็งจับพวงมาลัยให้แน่นกลั้นหายใจรอพวกพี่ไปให้พ้น ๆ ก่อนดีที่สุด แต่ในสนามไม่เหมือนกัน เสือ สิง กระทิง แรดที่รอพี่อยู่มีเป้าหมายเดียวกันคือเข้าเส้นชัยได้ก่อน ดังนั้นแรงอย่างเดียวไม่พอ เพราะพี่จะต้องโดนทั้งการบังไลน์ เบียดเลนนอกเลนในไม่ให้แซงอยู่ตลอดเวลา มุดไม่ดีเจอตัดหน้าพี่ตกใจก็ไถลกลิ้งออกนอกสนามได้เหมือนกัน ทักษะแมว ๆ อย่างพี่ก็คงได้แต่ตามก้นคนอื่นแน่นอน และในสนามไม่ใช่แค่จากแยกนี้ไปถึงแยกหน้า บางสนามแข่งเป็นสิบรอบต้องตั้งสมาธิเป็นชั่วโมงไม่วอกแวก ต้องฝึกฝนกันมาเป็นปีกว่าจะเอาตัวรอดได้ บางสนามอย่างเลอมังส์ 24 ขับ 24 ชั่วโมง แค่กระดกเครื่องดื่มชูกำลังเอาไม่อยู่แน่นอน แค่นี้ก็พอจะอนุมานได้ว่าขาซิ่งในสนามถ้าไม่ได้มีการฝึกฝนอย่างมุ่งมั่นก็คงเอาตัวไม่รอดในสนาม ดังนั้นเราจึงเห็นนักแข่งนอกสนามลงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา ๆ บนถนนอยู่ร่ำไป

ซิ่งไม่ว่าอย่าพาคนอื่นไปตาย                

ดังนั้นการซิ่งบนถนนมันก็ขึ้นอยู่จิตสำนึกของแต่ละคน อยากจะแรงโชว์สาวก็ไม่ว่า แต่ก็ควรจะเอาแต่พอดี แต่งรถให้สวย มีเครื่องแรงเสียงดัง ๆ ก็เท่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำตัวเสี่ยงด้วยการแข่งกันเอาเป็นเอาตายให้เพื่อนร่วมทางต้องเสี่ยงตายไปด้วย

สวมเรสซิ่งสูทขับบิ๊กไบค์บนถนน มีเหตุผลอะไรนอกจากความเท่

เวลาขับรถบนถนนแล้วเห็นว่าบางคนที่ขับบิ๊กไบค์ผ่านไปมา แล้วใส่เรสซิ่งสูทเต็มยศ คุณผู้ชายอย่างเรา ๆ บางคนคงรู้สึกหมั่นไส้ปนอิจฉากันบ้าง ว่ามันเว่อไปป่าวนี่ถนนหลวงไม่ได้เป็นสนามแข่ง บนถนนจะใส่ทำไม อันนี้ก็คงต้องตอบว่าอย่าไปอิจฉาเขาเลย เขาไม่ได้เว่อหรอก แค่รักความแรงและกลัวตาย

ความแรงที่ยากจะต้านทาง

รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์บนถนนที่เราเห็นกัน บางคันถอดแบบมาจากรถในสนามแข่งเลย ความแรงระดับพันซีซี คิดเอาแล้วกันว่าพันซีซีนี่ขนาดเครื่องระดังรถเก๋งอีโค่คาร์รุ่นใหม่ ๆ บนถนนเลยนะ แต่มันแบกน้ำหนักแค่ร้อยกว่ากิโลกรัมเท่านั้นเอง ในขณะที่รถเก๋งแบกน้ำหนักเป็นตัน ด้วยแรงเท่ากันแต่เบากว่ามาก ๆ มันจะไปได้แรงขนาดไหน บางคันทำความเร็วจากศูนย์ถึงร้อยได้ในเวลาแค่สามวิ แรงขนาดนั้นชนขึ้นมาที ไม่ต้องสืบเลยว่ารอดไหม

เมื่อมองไปที่กฎทางฟิสิกส์ว่าแอคชั่นเท่ากับรีแอคชั่น สมมุติระดับความเร็วที่สามร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วเกิดการชนอย่างจัง แรง G ที่กระทบร่างกายสามารถทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดกระจุยได้ในทันที ดังนั้นเราจึงเห็นว่าในสนามแข่งนักขับใส่ทั้งชุดที่ทนแรงเสียดทานระหว่างการไถลไปบนพื้นได้อย่างดี ไม่มีฉีกขาดปกป้องนักขับได้ระดับที่ปลอดภัย และในสนามยังมีระบบกันสะเทือนข้างสนามทั้งกรวดหรือหญ้าที่ผ่อนแรง หรือเบาะที่อยู่ตามทางโค้งที่นุ่มพอจะทำให้นักขับปลอดภัยเมื่อเกิดการกระแทก

แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังได้เห็นข่าวการบาดเจ็บและเสียชีวิตในสนามแข่งอยู่บ่อย ๆ แล้วจะนับประสาอะไรกับนักบิดบนถนน แม้ชุดและหมวกกันน็อคราคาแพงเป็นแสน ๆ อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากหากเกิดการชนอย่างกระชั้นในความเร็วที่สูง ๆ แต่อาจจะผ่อนหนักเป็นเบา จากตายอาจเหลือแค่พิการ และการชนที่ไม่แรงเท่าไหร่นักขับก็จะปลอดภัย เพราะการขับมอเตอร์ไซค์ ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ในพริบตา การตัดสินใจต้องถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ การป้องกันอย่างเต็มที่จึงดีกว่าการไม่ป้องกันอะไรเลย เราคงไปห้ามผู้ชื่นชอบความเร็วในการบิดมอเตอร์ไซค์ให้เลิกเอาตัวเองไปเสี่ยงไม่ได้ แต่อย่างน้อยนักขับทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและครอบครับ รถคันเป็นแสนเป็นล้านหากจะเพิ่มการแต่งตัวที่อาจจะดูเว่อและแพงระยับ มันก็คุ้มกับการแลกด้วยชีวิต

ชีวิตตัวเอง เลือกเอง เพื่อตัวเอง

ชุดเรสซิ่งสูทเองก็มีหลายระดับหลายราคาตามแต่ที่นักขับจะเลือกใช้ แต่เวลาเราเห็นนักขับบนถนนใส่เรสซิ่งสูทบนถนน เราอาจจะหมั่นไส้ก็จริง แต่อย่างน้อยคนคนนั้นก็เลือกที่จะดูแลตัวเองมากกว่าแคร์สายตาคนอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นความปลอดภัยบนถนนต่อผู้อื่นก็สำคัญ อยากเท่ก็เท่ที่ชุดเท่ที่รถ ดีกว่าไปเท่ที่การแบนโค้งแล้วกลิ้งไปชนเสาตัวขาด